• วลาดิเมียร์ ปูติน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 5 และทั่วโลกกำลังจับตาดูว่า เขาจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

  • รัสเซียกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะสงครามในยูเครนที่ยังไม่มีท่าทีจะสงบลง รวมถึงสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ฉบับสุดท้าย ซึ่งใกล้จะหมดอายุแล้ว

  • ภายในประเทศ รัสเซียกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การขาดแคลนแรงงาน และประชากรลดต่ำ ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า ปูตินจะเปลี่ยนแปลงสมาชิกรัฐบาลที่แก่ชราลงมากหรือไม่

จบลงไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในรัสเซีย ซึ่งปรากฏว่านาย วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้ปกครองประเทศมานานกว่า 24 ปี คว้าชัยชนะไปอย่างไม่พลิกความคาดหมายของคนทั่วโลก

ชัยชนะของปูตินไม่เป็นที่กังขาไม่ตั้งแต่ก่อนที่การเลือกตั้งจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว เนื่องจากไม่มีคู่แข่งที่แท้จริง ขณะที่ฝ่ายค้านก็ถูกกำจัด หรือควบคุมเอาไว้อย่างเด็ดขาด แต่การโหวตครั้งนี้ยังคงมีความสำคัญกับปูติน เพราะเป็นเหมือนการประทับตรา มอบอำนาจการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของประเทศให้แก่เขาอีกครั้ง

ปูตินอาจไม่เจออุปสรรคในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เขาจะทำหลังจากนี้ต่างหาก คือเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง อนาคตของรัสเซียยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะสงครามในยูเครนที่ยังคาราคาซัง, ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์รอบใหม่ หรือแม้แต่เศรษฐกิจในประเทศ ที่ยังรอให้เขาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

...

ทิศทางสงครามยูเครน

ปัจจุบันรัสเซียครอบครองพื้นที่ของยูเครนเอาไว้ถึง 1 ใน 5 ส่วนตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยที่ปูตินไม่ได้กำหนดเป้าหมายเรื่องดินแดนไว้อย่างชัดเจน แต่ลูกน้องคนสนิทของเขาอย่าง ดีมิทรี เมดเวเดฟ กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า รัสเซียเล็งยึดดินแดนในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เพิ่มอีก รวมถึงเมืองโอเดสซาและกรุงเคียฟ

นั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สถานการณ์จะบานปลายมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อไรสงครามครั้งนี้จะจบลง

ปูตินอาจใช้วิธีค่อยๆ ไล่บดกองทัพยูเครนไปเรื่อยๆ เพราะเวลาอยู่ฝ่ายรัสเซีย เนื่องจากยูเครนกระสุนใกล้หมด ทำได้แค่รอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก แต่เงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากสหรัฐฯ ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ขณะที่ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ ก็อาจเป็นตัวชี้ขาดว่า แดนลุงแซมจะช่วยเหลือยูเครนต่อไปหรือไม่

หรือปูตินอาจตัดสินใจยกระดับสงครามขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก หลังจากเคยเกณฑ์ไปแล้ว 300,000 นายเมื่อเดือนกันยายน 2565 แต่การเกณฑ์ทหารรอบแรกปั่นป่วน และไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนเลย ทำให้ชาวรัสเซียนับแสนคนหนีออกจากประเทศ ซึ่งรัฐบาลเครมลินย้ำว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารอีก

ปูตินอาจหาทางเจรจาเพื่อยุติสงครามก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพวกเขา นั่นคือการให้รัสเซียควบคุมดินแดนของยูเครนที่พวกเขาเข้ายึดครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเคียฟไม่มีวันยอมรับ

รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส เมื่อเดือนก่อน ระบุว่า ผู้นำรัสเซียส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ ว่า เขาปร้อมจะตกลงหยุดยิง แต่สงครามต้องหยุดลง ณ เส้นแนวหน้าปัจจุบัน แต่ฝ่ายวอชิงตันปฏิเสธหลังผู้แทนเจรจาของทั้งสองฝ่ายติดต่อพูดคุยกัน

หาเส้นทางการค้าใหม่สู้คว่ำบาตร

รัสเซียสูญเสียตลาดพลังงาน รวมถึงการค้าอื่นๆ ในยุโรปไปมากมาย จากมาตรการคว่ำบาตรขนานใหญ่ เพื่อลงโทษมอสโกที่บุกโจมตียูเครน กอปรกับการระเบิดของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ‘นอร์ด สตรีม’ ทำให้รัสเซียจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางการค้าไปยังตะวันออก และควบคืบหน้าของโครงการสร้างท่อส่งก๊าซใหม่ 3 แห่ง จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเขา

โครงการสร้างศูนย์กลางท่อส่งก๊าซในตุรกี ซึ่งทั้งสองประเทศจับมือกัน จะทำให้รัสเซียสามารถเปลี่ยนเส้นทางส่งออกก๊าซเพื่อเลี่ยงคว่ำบาตรได้ ส่วนท่อส่งก๊าซใหม่ ‘พาวเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย 2’ (Power of Siberia 2) จะช่วยให้รัสเซียส่งก๊าซผ่านมองโกเลียไปให้จีนได้ปีละกว่า 5 หมื่นล้าน ลบ.ม.

ขณะที่การขยายท่อส่งก๊าซเส้นทางทะเลเหนือ ซึ่งจำเป็นต้องมีการละลายทะเลน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ จะเชื่อมเมืองเมอร์มานสก์ บริเวณรัสเซียชายแดนที่ติดกับนอร์เวย์ เข้าสู่ช่องแคบแบริง ใกล้รัฐอะแลสกา

ปมอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ทำให้พวกเขาถอนตัวจากข้อตกลงเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ไปแล้วหลายฉบับ และข้อตกลงฉบับสุดท้ายที่เรียกว่าสนธิสัญญา ‘New START’ ซึ่งจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ประเทศคู่สัญญาสามารถประจำการได้ จะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2569

หากข้อตกลงนี้หายไป สหรัฐฯ กับรัสเซียจะสามารถขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองได้โดยไม่มีข้อผูกมัด ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า จะมีการต่ออายุสนธิสัญญา หรือทำข้อตกลงใหม่หรือไม่

ปูตินเคยพูดไว้แล้วว่า รัสเซียต้องหวนกลับไปเพิ่มงบประมาณด้านการกลาโหม เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ตัดกำลังพวกเขาด้วยการแข่งขันสะสมอาวุธ แบบที่เคยเกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และรัสเซียจะคอยพัฒนาอาวุธใหม่ๆ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ว่า เขากำลังวางแผนส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปประจำการในอวกาศ

ผู้นำรัสเซียแย้มด้วยว่า มอสโกอาจกลับไปทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ เริ่มก่อน และรัสเซียพร้อมเจรจาเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ แต่ประเด็นที่คุยต้องรวมเรื่องความมั่นคงของรัสเซีย และเรื่องยูเครนด้วย

...

แก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ

ภายในรัสเซียเองก็กำลังเผชิญปัญหาหลายอย่าง ทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งสูง, การขาดแคลนแรงงาน และจำนวนประชากรลดลงเศรษฐกิจของรัสเซียโตขึ้น 4.6% ในเดือนมกราคมหากคิดแบบปีต่อปี เพราะการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่เพิ่มมากขึ้น แต่การขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพที่ต่ำ กำลังกลายเป็นปัญหา

ปูตินไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในปี 2561 ที่ว่าจะทลายกำแพงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าค่าแรงจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีอุตสาหกรรมด้านการกลาโหมหนาแน่น แต่รายได้โดยรวมแท้จริงยังคงอยู่ในระดับเพิ่มมานานนับทศวรรษแล้ว

สิ่งสำคัญที่สุดระยะสั้นที่ปูตินต้องจัดการคือ ลดอัตราเงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ที่ 7.6% และลดความตึงเครียดด้านงบประมาณ ที่ตอนนี้งบกว่า 40% ของประเทศถูกใช้ไปกับภาคกลาโหมและความมั่นคง เบียดบังงบด้านอื่นๆ อย่างการศึกษาและสุขภาพ

ผู้นำรัสเซียส่งสัญญาณว่า จะมีการขึ้นภาษีสำหรับบริษัทและบุคคลร่ำรวย นอกจากนั้น เขายังต้องการเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยของประชากรและอัตราการเกิด ด้วยมาตรการสนับสนุนครอบครัว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาประชากรตกต่ำของประเทศ ที่ดำเนินมายาวนานได้

...

คนสนิทแก่กันหมดแล้ว

ด้วยความที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ตอนนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน มีอายุ 71 ปีแล้ว แต่ลูกน้องคนสนิทที่อยู่ด้วยกันมาตลอด หลายคนมีอายุมากกว่าเขาเสียอีก เช่น นายอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ หัวหน้าสำนักงานความมั่งคงกลาง (FSB) มีอายุ 72 ปีแล้ว เท่ากับนายนิโคไล ปาตรูเชฟ ประธานสภาความมั่นคง ขณะที่ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคู่บุญ ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 20 ปี ก็เพิ่งอายุครบ 74 ปีในสัปดาห์นี้

ส่วนนายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายวาเลรี เกราซิมอฟ เสนาธิการกองทัพ ซึ่งมีอายุ 68 ปีทั้งคู่ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากความล้มเหลวในสงครามยูเครน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปูตินก็ยังคงเก็บเจ้าหน้าที่หน้าเดิมๆ ไว้ จนนักวิจารณ์หลายคนกล่าวหาว่าเขาให้ความสำคัญกับความภักดีมากกว่าความสามารถ

ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ปูตินจะเปลี่ยนแปลงกลุ่มวงในรัฐบาลของเขาอย่างไร แต่มีบุคคลอายุน้อยกว่าหลายคน ที่กำลังถูกจับตาว่าอาจได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญในอนาคต รวมไปถึงนาย วียาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานรัฐสภาวัย 60 ปี, นายดีมิทรี ปาตรูเชฟ รัฐมนตรีการเกษตร วัย 46 ปี และนาย อเล็กเซ ดียูมิน อดีตบอดี้การ์ดของปูติน วัย 51 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการแคว้น ตูลา โอบลาสต์ (Tula Oblast)

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นายบอริส โควัลชุค วัย 46 ปี ลูกชายนาย ยูริ โควัลชุค เพื่อนนักธุรกิจของปูติน เพิ่งลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ‘Inter RAO’ หนึ่งในรัฐวิสาหกิจพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ท่ามกลางข่าวลือว่า เขาลาออกเพื่อไปเข้าร่วมคณะบริหารของนายปูติน





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : reuterscnn

...