สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ ระบุว่า ภูเขาไฟได้กลับมาปะทุอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ (16 มี.ค.) เป็นครั้งที่ 4 โดยพ่นควันและลาวาขึ้นไปในอากาศ

ภาพที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยยามฝั่ง และเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ RUV หินหนืดได้ปะทุขึ้นจากรอยแยกบนพื้นดิน ส่งผลให้ลาวาได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังแต่ละด้าน สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ ระบุในแถลงการณ์ว่า การปะทุเริ่มต้นเมื่อเวลา 20.23 น. ตามเวลามาตรฐาน และรอยแยกดังกล่าวคาดว่ามีความยาวประมาณ 2.9 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับการปะทุครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 

เจ้าหน้าที่ได้เตือนมาหลายสัปดาห์แล้วว่าการปะทุบนคาบสมุทรเรคยาเนสทางตอนใต้ของเมืองเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง จุดที่มีการปะทุอยู่ระหว่างภูเขาฮากาเฟลล์ และสโตรา-สโคกเฟล ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่เกิดการปะทุครั้งก่อน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ด้านเว็บไซต์ของสนามบินเคฟลาวิกในเมืองเรคยาวิกแสดงให้เห็นว่าสนามบินยังคงเปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินขาเข้าและขาออก

สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ลาวาดูเหมือนจะไหลลงมาทางใต้อย่างรวดเร็วไปยังเมืองกรินดาวิกที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่เพียงไม่กี่คน จากเกือบ 4,000 คนที่อพยพออกไปก่อนหน้านี้ สถานีโทรทัศน์ RUV รายงานว่า เมืองนี้กำลังเตรียมการอพยพอีกครั้ง โดยการปะทุในเดือนมกราคมส่งผลให้บ้านเรือนหลายแห่งได้รับความเสียหาย

ด้านตำรวจไอซ์แลนด์กล่าวว่า ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ส่วนบลูลากูน สปาความร้อนใต้พิภพชื่อดังที่อยู่ใกล้เคียงต้องปิดให้บริการเช่นเดียวกับการปะทุครั้งก่อน

ไอซ์แลนด์ มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่มากกว่า 30 ลูก ทำให้เกาะแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการท่องเที่ยวสำหรับผู้ชื่นชอบภูเขาไฟ ในปี 2553 ควันและเถ้าจากการปะทุที่ภูเขาไฟ "เอยาฟยาลลาโจกุล" ทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์แผ่กระจายไปทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ทำให้เที่ยวบินกว่า 100,000 เที่ยวต้องหยุดให้บริการ และส่งผลให้ชาวไอซ์แลนด์หลายร้อยคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน

...

ทั้งนี้ การระเบิดของภูเขาไฟในคาบสมุทรเรคยาเนสเรียกว่าการปะทุของรอยแยก ซึ่งโดยปกติจะไม่ทำให้เกิดการระเบิดขนาดใหญ่ หรือเถ้าถ่านกระจายตัวออกสู่ชั้นสตราโตสเฟียร์อย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ ระบุว่า ก๊าซจากการปะทุดังกล่าวเคลื่อนไปในทะเลทางตะวันตก

นักวิทยาศาสตร์กลัวว่าการปะทุอาจดำเนินต่อไปอีกนานหลายทศวรรษ และทางการไอซ์แลนด์ได้เริ่มสร้างเขื่อนกั้นเพื่อเปลี่ยนเส้นทางลาวาไม่ให้ไหลมายังบ้านเรือนประชาชน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การปะทุในเดือนกุมภาพันธ์ยังทำให้ประชาชนมากกว่า 20,000 คนถูกตัดขาดจากระบบทำความร้อน เนื่องจากลาวาทำลายถนน และท่อส่งน้ำมัน

ไอซ์แลนด์ ตั้งอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียน และอเมริกาเหนือ ถือเป็นแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังถือเป็นจุดที่มักเกิดแรงสั่นสะเทือน และภูเขาไฟ เมื่อแผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนตัวไปในทิศทางตรงกันข้าม.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign