การปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นเครื่องมืออันทรงพลังรุ่นต่อจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขึ้นปฏิบัติการบนวงโคจร ทำให้นักดาราศาสตร์ได้สนุกเพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งการค้นพบใหม่ๆ และหวังว่านี่จะนำไปสู่การไขความลึกลับมากมายของเอกภพหรือจักรวาลยุคแรกเริ่ม และตอนนี้กล้องเวบบ์ก็สังเกตถึงช่วง 500 ล้านปีแรกหลังเหตุการณ์บิ๊ก แบง (Big Bang) ที่เป็นทฤษฎีกำเนิดเอกภพแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติเผยในวารสารเนเจอร์ แอสโตรโนมี (Nature Astronomy) ได้สังเกตไปยังกาแล็กซียุคแรกๆที่ชื่อ Gz9p3 อย่างละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จริงๆ แล้วเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ส่องเห็นกาแล็กซี Gz9p3 มีลักษณะเป็นจุดแสงเพียงจุดเดียวเท่านั้น แต่เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ส่องดูใหม่ และวิเคราะห์ก็พบว่า Gz9p3 เกิดขึ้นเมื่อ 510 ล้านปีหลังจากเหตุการณ์บิ๊ก แบง หรือเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีก่อน

นักดาราศาสตร์เผยว่า กาแล็กซี Gz9p3 มีมวลมากและโตเต็มที่เกินกว่าที่คาดไว้สำหรับในช่วงเอกภพอายุน้อยๆ นั่นแสดงว่าภายใน Gz9p3 คงต้องมีดาวฤกษ์ที่พัฒนาเติบโตได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าที่คิดไว้มาก และไม่เพียงมีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่รูปร่างที่ซับซ้อนของ Gz9p3 ยังระบุได้ทันทีว่านี่เป็นหนึ่งในการควบรวมกาแล็กซียุคแรกสุดที่เคยพบมา ซึ่ง Gz9p3 ชี้ให้เห็นว่ากาแล็กซีสามารถสะสมมวลได้อย่างรวดเร็วในเอกภพยุคแรกๆ ผ่านการควบรวมเข้าด้วยกัน โดยมีประสิทธิภาพการก่อตัวดาวฤกษ์สูงกว่าที่คาดการณ์.

Credit : NASA, ESA, CSA. Image Processing: Joseph DePasquale (STScI)

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...