การทำความเข้าใจว่าการก่อตัวดาวฤกษ์ในกาแล็กซีถูกควบคุมและยุติลงอย่างไรนั้น เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ยุคปัจจุบัน ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล เครื่องมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา และ องค์การอวกาศยุโรป ได้ค้นพบ 6 กาแล็กซีมวลมากในยุคแรกๆของจักรวาล และม้วยมรณาไปแล้ว เนื่องจากสูญเสียก๊าซไฮโดรเจนเย็นที่จำเป็นต่อการก่อกำเนิดดาวฤกษ์

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจักรวาลวิทยาแคฟลี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ เผยว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่องค์การนาซา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศแคนาดาร่วมมือกัน ได้ค้นพบกาแล็กซีที่ตายแล้วและยังเก่าแก่ที่สุด ชื่อว่า JADES-GS-z7-01-QU มันหยุดก่อตัวดาวฤกษ์เมื่อ 13,100 ล้านปีก่อน โดยกาแล็กซีที่สิ้นอายุขัยไปแล้วนี้เกิดขึ้นเมื่อจักรวาลหรือเอกภพมีอายุเพียง 700 ล้านปีหลังจากเหตุการณ์บิ๊กแบง ที่เป็นทฤษฎีกำเนิดเอกภพ โดยปัจจุบันมีการศึกษาระบุว่าจักรวาลถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 13,800 ล้านปีก่อน

นักดาราศาสตร์เผยว่า กาแล็กซีที่กล้องเจมส์ เวบบ์ ค้นพบนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก อาจมีดวงดาวตั้งแต่ 100 ล้านถึง 1,000 ล้านดวง นั่นทำให้ใกล้เคียงกับมวลของกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก ที่เป็นบริวารของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ทว่ากาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กจะยังมีการก่อตัวดาวดวงใหม่ๆอยู่ ทีมยังระบุว่า กาแล็กซีที่สิ้นชีพไปแล้วดังกล่าว เผชิญกับการระเบิดของการก่อตัวดาวฤกษ์ในช่วง 30 ล้าน ถึง 90 ล้านปี และหยุดการก่อตัวดาวฤกษ์แบบฉับพลัน ทำให้นักดาราศาสตร์พยายามหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งหลังจากที่กาแล็กซีหยุดการกำเนิดดาวดวงใหม่ ก็กลายเป็นสุสานดวงดาวดีๆนี่เอง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...