ญี่ปุ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลกใฝ่ฝันไปเยี่ยมเยือนเป็นลำดับต้นๆ เมื่อมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างล้นหลามจนยากเกินจะรับมือ หลายแห่งจึงเริ่มพิจารณาหรือออกมาตรการคัดกรอง จัดการปัญหาความแออัดยัดเยียด และเพื่อรักษาสมดุลของความสงบเรียบร้อยในชุมชนและสิ่งแวดล้อมก่อนจะบานปลาย เกิดความเสียหายแม้จะสร้างรายได้มหาศาล ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างเช่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “จังหวัดโอซากา” ประตูสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดฮิตของผู้คนทั่วโลก เริ่มเคลื่อนไหว หาแนวทางจัดระเบียบการท่องเที่ยว หลังจากตกเป็น “เหยื่อ” ความนิยมล้นหลามของตนเอง จนเกิดภาวะ “นักท่องเที่ยวล้นเมือง” (Overtourism) ด้วยการพิจารณา “เก็บค่าธรรมเนียม” นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อนำมาใช้รับมือปัญหาดังกล่าว หวังลดผลกระทบไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการในเดือน เม.ย. 2568 ช่วงที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2025 หรืองานนิทรรศการโลก
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเสียก่อน ปัจจุบันจังหวัดโอซากาเรียกเก็บภาษีการเข้าพักโรงแรมในอัตรา 100-300 เยน (ประมาณ 24-72 บาท) จากค่าห้องพักราคาตั้งแต่ 7,000 เยน (ราว 1,680 บาท) ขึ้นไปต่อคืน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติก็ตาม
เช่นเดียวกับ “จังหวัดเกียวโต” เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น ที่ไม่ขอทนกับพฤติกรรมเหนือการควบคุมของผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศอีกต่อไป สั่งห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ ย่านกิออน ชุมชนเปี่ยมเสน่ห์เต็มไปด้วยบ้านเรือนญี่ปุ่นโบราณที่นักเที่ยวมักมาชม “เกอิชา” ตั้งแต่เดือน เม.ย. สงวนพื้นที่ตรอกเล็กๆนี้เฉพาะศิลปิน ผู้อยู่อาศัย และลูกค้าเท่านั้น หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวคุกคามเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
...
ก่อนหน้านี้ “จังหวัดยามานาชิ” ที่ตั้งของ “ภูเขาไฟฟูจิ” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโก ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าอัตรา 2,000 เยน ต่อคน (ประมาณ 480 บาท ) สำหรับผู้ที่ต้องการปีนภูเขาไฟฟูจิจากฝั่งจังหวัดยามานาชิ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เริ่มต้นฤดูปีนภูเขาไฟในปีนี้ ไม่รวมเงิน 1,000 เยน ที่นักปีนเขาถูกขอให้บริจาคเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภูเขาไฟ ยังจำกัดจำนวนนักปีนเขาไว้ที่ 4,000 คนต่อวันอีกด้วย.
อมรดา พงศ์อุทัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม