ธนาคารโลกหรือ World Bank เพิ่มตัวเลข GNI (รายได้ ประชาชาติเฉลี่ยต่อคน) ที่เข้าเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้สูงขึ้นอีกร้อยละ 5 เข้าสู่ระดับ 13,846 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ถ้าเป็นเงินไทยก็ประมาณ 4.96 แสนบาท (4.1 หมื่นบาทต่อเดือน) ประเทศไหนที่ผู้คนมีรายได้ต่ำกว่านี้ ไม่ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงตามมาตรฐานธนาคารโลก

ค.ศ.2023 รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนของจีนลดลงร้อยละ 0.1 เข้าสู่ที่ระดับ 12,597 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือ 4.52 แสนบาท (เดือนละ 3.7 หมื่นบาทต่อเดือน) ทำให้จีนหลุดจากการเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง จีนโดนกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ตามด้วยตลาดอสังหาริมทรัพย์พัง กำไรของผู้ประกอบการและรายได้ภาคครัวเรือนลด สิ้น ค.ศ.2023 คนจีนเข้าเกณฑ์รับสวัสดิการคนว่างงานมากถึง 3.52 ล้านราย (เพิ่มจาก ค.ศ.2022 ถึง 5 แสนราย)

ค่าเงินหยวนตกต่ำลงเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ใน ค.ศ.2023 เข้าสู่ระดับ 7.0467 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนไม่สดใสเหมือนเดิม นักลงทุนจำนวนมากเทขายหุ้นจีนแล้วย้ายพอร์ตไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอินเดียแทน มีการคาดการณ์กันว่าในหลายทศวรรษจากนี้ไป อินเดียจะเป็นประเทศที่พุ่งเหมือนกับจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ต้องถือว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขจัดความยากจน ย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ประชาชนคนจีนยากจนถ้วนหน้า รัฐบาลจีนมุ่งทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จมากกว่าร้อยละ 40 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 18 เมื่อปลาย ค.ศ.2012 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนใช้มาตรการขจัดความยากจนอย่างละเอียดแม่นยำ ตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีมาตรการล็อกเป้าคนจนเป็นรายตัวได้อย่างแม่นยำ

แม้มีพลเมืองมากถึง 1.4 พันล้านคน แต่จีนก็มีรัฐบาลท้องถิ่นในระดับต่างๆที่เข้มแข็ง การขจัดความยากจนของจีนไม่ใช่หว่านช่วยไปทั่ว แต่ดูไปที่คนจนจริงๆ การรู้ว่าคนกลุ่มไหนจนจริงหรือครอบครัวใดยากจนของแท้ รัฐรู้จากหน่วยบริหารส่วนท้องถิ่น เมื่อได้รายชื่อคนก็ทุ่มเทช่วยเหลือจนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

...

ค.ศ.2013-2018 จีนทำสถิติขจัดความยากจนให้กับประชาชนเป็นสิบล้านคนทุกปีอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 6 ปี จีนลดกลุ่มผู้ยากจนสะสมไปได้มากถึง 82.39 ล้านคน ทำให้จีนเป็นประเทศที่สามารถลดผู้ยากจนได้มากที่สุดในโลกเป็นประเทศแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญอีก 16.6 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มผู้ยากจนอย่างเข้มข้นคนจนกลุ่มนี้เป็นภาระหนักที่สุดของรัฐบาลในภารกิจขจัดความยากจน

จีนมีคำว่า ‘มรดกความยากจน’ หมายความว่า ความ ยากจนตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อแม่สู่รุ่นลูก จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน รุ่นลูกหลานโตแล้วก็ต้องประสบเคราะห์กรรมซ้ำซ้อน ในสถานการณ์เดียวกันกับรุ่นพ่อแม่ จีนเข้าไปแก้ไขวงจรอุบาทว์นี้ในระดับครอบครัว ซึ่งวิธีการแก้ไข เปิดฟ้าส่องโลกจะนำรายละเอียดมารับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพในโอกาสต่อไป

วงจรอุบาทว์ของความยากจนมาจากความยากลำบากในการพัฒนาภาคการศึกษา การเกิดในครอบครัวผู้ยากไร้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ต้องหยุดเรียนกลางคัน สำคัญที่สุดก็คือทัศนคติของพ่อแม่ที่มองว่าการเรียนหนังสือไร้ประโยชน์ ทำให้ลูกหลานของครอบครัวเหล่านี้จนซ้ำซาก ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้

รัฐบาลจีนเข้าไปแก้ไขทัศนคตินี้ และสนับสนุนให้เยาวชนยากจนได้เรียนหนังสือ มีความรู้ มีทักษะในการเลี้ยงชีพ ช่วยให้หางานทำได้อย่างราบรื่น คนรุ่นต่อไปจึงหลุดพ้นจากความยากจนได้ด้วยตัวเอง หากใครไปศึกษาเรื่องงบประมาณของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะงบประมาณด้านการศึกษา จะเห็นว่าทุ่มไปที่พื้นที่ยากจนที่สุด เน้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคอาชีวศึกษา การฝึกอบรมผู้คน สร้างทรัพยากรมนุษย์ด้วยทุนการศึกษาของรัฐ รัฐทุ่มเงินไปที่ทีมครูชนบท ทั้งรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และครู ต่างมีแฟ้มประวัติข้อมูลรายบุคคลของสมาชิกในครอบครัวผู้ยากจน.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม