นิกกี เฮลีย์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในการแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายโดนัลด์ ทรัมป์
นิกกี เฮลีย์ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของเธอในกระบวนการเสนอชื่อ และเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์สำหรับอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ
เฮลีย์ ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับคะแนนเสียง 62.9% ส่วนทรัมป์ได้ 33.2% ทำให้เฮลีย์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกันในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม โอกาสของเธอที่จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายโจ ไบเดน ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน แทบจะไม่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งใน 8 รัฐ ด้วยคะแนนนำห่างอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นเผยว่า ทรัมป์จะชนะการแข่งขันเกือบทั้งหมดนับจากนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองแบบ 100% และมีสัดส่วนผู้อยู่อาศัยที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง ขณะที่ฐานเสียงสำคัญของทรัมป์มักอยู่ในเขตชนบท และมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีอัตราการศึกษาต่ำ
เมืองนี้ยังเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจำนวนมาก ซึ่งพันธมิตรของทรัมป์เคยประกาศว่าจะขับไล่ออกให้หมด และจะแทนที่ด้วยผู้จงรักภักดี หากทรัมป์ชนะในเดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางบางส่วนพบว่ามีการขู่ฆ่าเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทรัมป์มักเรียกพื้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ว่าเป็น "หนองน้ำ"
...
เฮลีย์จะเลือกผู้แทน 19 คน หลังจากได้รับชัยชนะครั้งนี้ จนถึงขณะนี้เฮลีย์ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้ว 43 คะแนน จากที่ต้องได้อย่างน้อย 1,215 คะแนนจึงจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรค ขณะที่ทรัมป์ได้แล้ว 244 คะแนน
ชัยชนะของเธอทำให้เธอไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถชนะการเลือกตั้งขั้นต้นได้แม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนจะมองว่าความนิยมของเธอในกรุงวอชิงตัน เป็นไปในเชิงลบก็ตาม ขณะที่ผู้นำพรรคหลายคนที่รวมถึงทรัมป์ มองว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยอาชญากรรมและถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นสูง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาชิกพรรครีพับลิกันในเมืองหลวงสหรัฐฯ ปฏิเสธทรัมป์ ในระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อปี 2559 ทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่า 14% และไม่มีคณะผู้เลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะชนะการเลือกตั้งในระดับประเทศก็ตาม
ทั้งนี้ ในวันอังคาร (5 มี.ค.) ผู้ลงคะแนนเสียงใน 15 รัฐ และหนึ่งดินแดนของสหรัฐฯ จะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งถือว่าเป็นวันที่มีการลงคะแนนในรัฐต่างๆ มากที่สุด หรือที่เรียกว่า "ซูเปอร์ทิวส์เดย์" เพื่อเลือกตัวแทนของพรรคที่จะลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้.
ที่มา Reuters
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign