- ออสเตรเลียนำร่องแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้หญิง-ชายอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากกฎหมายเปิดเผยตัวเลขรายได้ของธุรกิจต่างๆ กว่า 5,000 แห่ง เพื่อชี้ให้เห็นตัวเลขค่าจ้างที่แท้จริงที่หญิง-ชายชาวออสเตรเลียที่ได้รับในปัจจุบัน
- จากการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของค่าจ้างของลูกจ้างเพศชาย และเพศหญิง อย่างเห็นได้ชัด แม้แต่ในองค์กร หรือบริษัทที่เป็นแบรนด์ชั้นนำด้วยเช่นกัน
- ความไม่เท่าเทียมกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกมาอย่างยาวนาน โดยตัวเลขในปี 2022 พบว่าค่าจ้างของผู้หญิงจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเพศชายราว 17 เปอร์เซ็นต์
ออสเตรเลียนำร่องก่อนใคร
นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยรายได้อย่างเป็นทางการระหว่างเพศชาย และเพศหญิง ที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทชั้นนำของออสเตรเลีย หลังจากที่ออสเตรเลียได้ผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนขึ้นไป รวมแล้วกว่า 5,000 แห่ง ต้องเผยแพร่ข้อมูลความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นไป โดยจุดประสงค์หลักของนโยบายนี้ก็เพื่อต้องการให้บริษัทต่างๆ มีความตื่นตัว และได้ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของสตรี หลังข้อมูลชี้ว่าในปี 2023 ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศในระดับชาติของออสเตรเลียอยู่ที่ 13.3 เปอร์เซ็นต์
ในการชี้แจงครั้งนั้น นางเคที กัลลาเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีของออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์ว่า จากการคาดการณ์พบว่าจะต้องใช้เวลานานถึง 26 ปีในการปิดช่องว่างของรายได้ที่แตกต่างเพราะเพศสภาพ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะไม่ปล่อยให้พวกเธอต้องรอต่อไป และต้องการปิดช่องว่างนี้โดยเร็ว
สำหรับการเปิดเผยตัวเลขที่ออกมาชี้ชัดว่า รายได้ของลูกจ้างเพศหญิงยังคงตามหลังเพศชายอยู่มาก ไม่เว้นแม้แต่ในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างสายการบินแห่งชาติ ธนาคาร รวมทั้งบริษัทที่มีหัวหน้างานเป็นผู้หญิง และลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอย่างบริษัททางด้านแฟชั่นด้วย ขณะที่รัฐบาลกลางออสเตรเลียระบุว่า ช่องว่างส่วนต่างของรายได้นี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลียเกือบ 52 พันล้านบาทในทุกๆ ปี
...
การเปิดเผยข้อมูลใหม่นี้เป็นการรวบรวมตัวเลขโดยหน่วยงาน Workplace Gender Equality Agency (WGEA) ซึ่งใช้ข้อมูล 2 ชุด ได้แก่ ข้อมูลจากฐานเงินเดือน ซึ่งไม่รวมถึงเงินบำนาญ โบนัส ค่าล่วงเวลา หรือรายได้อื่นๆ ของพนักงาน โดยค่าจ้างของพนักงานพาร์ทไทม์ หรือลูกจ้างรายวัน จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันกับพนักงานประจำ
ส่วนค่าเฉลี่ยส่วนที่ 2 เป็นค่าตอบแทนทั้งหมดที่รวมทั้งเงินเดือน และรายได้อื่นๆ ของพนักงานทั้งหมด
ในออสเตรเลีย ค่ามัธยฐาน หรือค่ากลางของช่องว่างรายได้ระหว่างเพศชาย และหญิง จะอยู่ที่ 19 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเทียบเป็นจำนวนเงินก็เท่ากับผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายเฉลี่ยราว 18,461 ดอลลาร์ หรือราว 662,000 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามพบว่าในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันจะมีนัยสำคัญต่อรายได้ที่แตกต่างกันไปด้วย ไล่จากอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งค่ากลางของช่องว่างรายได้จะอยู่ที่ 31.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร ค่ากลางของช่องว่างรายได้จะอยู่ที่เพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์ และหลังจากที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากนายจ้าง ทาง WGEA พบว่าธุรกิจที่ช่องว่างค่าตอบแทนสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ มีโครงสร้างค่าตอบแทนที่เอื้อต่อผู้ชาย ในขณะที่นายจ้างของบริษัทที่มีช่องว่างค่าตอบแทนน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เอื้อต่อผู้หญิง
จากผลการศึกษาพบว่า 62% ของช่องว่างค่าตอบแทนนั้นมีมากกว่า 5% ที่เอื้อต่อผู้ชาย ส่วนที่เหลือ 8% มีน้อยกว่า 5% ที่เอื้อต่อผู้หญิง โดยรวมแล้ว 50% ของผู้จ้างงาน มีช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศมากกว่า 9.1%
นางเคที กัลลาเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีของออสเตรเลีย ระบุว่า การเปิดเผยช่องว่างรายได้ครั้งนี้เป็นวินาทีประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศนั้นมีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่ซับซ้อนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลียอย่างมหาศาล การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้จะต้องทำอย่างโปร่งใส และน่าเชื่อถือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพื่อปิดช่องว่างในที่ทำงานนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก
ปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างเพศชายและหญิงไม่ได้เกิดขึ้นในออสเตรเลียเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกมายาวนาน โดยฟอร์บส์เปิดเผยว่า ตัวเลขในปี 2022 พบว่าค่าจ้างของผู้หญิงจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเพศชายราว 17 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าทุกๆ ดอลลาร์ที่เพศชายได้รับ ผู้หญิงจะได้ค่าจ้างเพียง 82 เซ็นต์เท่านั้น และยิ่งเป็นผู้หญิงผิวสี ช่องว่างนี้ก็ยิ่งจะกว้างขึ้นอีก นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมกฎหมาย ผู้ชายจะได้รายได้มากกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันผู้หญิงผิวสีจะได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำสุดในพื้นที่ชนบท
และหากเทียบอัตราในปัจจุบันจากข้อมูลปี 2020 มีการประมาณการว่าจะต้องใช้เวลาถึง 257 ปี จึงจะสามารถปิดช่องว่างทางรายได้นี้ลงได้ โดยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปประเทศลัตเวียเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศสูงสุดอยู่ที่ 22.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ลักเซมเบิร์กมีช่องว่างรายได้ต่ำที่สุดที่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เกาหลีใต้มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศมากที่สุดในโลกที่ 31.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเบลเยียมมีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศน้อยที่สุดในโลกอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์
...
ช่องว่างรายได้ในอดีตและปัจจุบัน
ในปี 1963 ผู้หญิงทำรายได้ได้ราว 59 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 ดอลลาร์ที่ผู้ชายหาได้ ขณะที่ในปี 2010 ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็น 77 เซ็นต์ต่อ 1 ดอลลาร์ และเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราวครึ่งเซ็นต์ในทุกๆ ปี และทั้งๆ ที่ผู้หญิงถือเป็นแรงงานหลักถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2018 แต่ค่ากลางของรายได้ก็ยังคงต่ำกว่าผู้ชาย
สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อช่องว่างรายได้ระหว่างเพศนั้น นับว่ามีหลายปัจจัยทั้ง เรื่องการเหยียดเพศ อายุ ชั่วโมงการทำงาน การเลี้ยงดูบุตร การศึกษา และประเภทของงาน รวมทั้งทัศนคติของนายจ้าง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ความเคลื่อนไหวของประเทศออสเตรเลียในครั้งนี้ก็สร้างความหวังไม่น้อยให้แก่ผู้หญิงทั้งในประเทศ และทั่วโลก เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ผู้หญิงรอคอยมานาน.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
...
คลิกอ่านข่าว รายงานพิเศษ