นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่านกสมัยใหม่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์หลังดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน แม้การปะทะชนจะทำให้ 3 ใน 4 สายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกต้องสูญพันธุ์ไปในขณะนั้น แต่นกที่เป็นกลุ่มก็ไม่ได้สูญพันธุ์ตามไปด้วย แต่นักบรรพชีวินวิทยาก็โต้แย้งมานานแล้วว่าการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย กระตุ้นให้เกิดวิวัฒนาการของนกจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการแข่งขันสำหรับนกถูกลดลงมาก ทำให้นกมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ทว่าการวิจัยจากทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดยนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าจากการขุดค้นอย่างกว้างขวางและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดที่รวบรวมจากนก 124 สายพันธุ์ ที่แสดงถึงความหลากหลายของนกยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ และตรวจสอบตำแหน่งทางพันธุกรรม 25,460 ตำแหน่งในดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรม 4 ชนิด จากนั้นใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาสร้างแผนภูมิลำดับวงศ์ตระกูลของนก พร้อมยังเปรียบเทียบกับอายุของฟอสซิลนก 19 ชิ้น และปรับแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินอัตรา วิวัฒนาการของนกให้สอดคล้องกับหลักฐานฟอสซิล
...
ด้วยวิธีการเหล่านี้ ทีมพบว่าการแบ่งสายที่เก่าแก่ที่สุดในลำดับวงศ์ตระกูลของนกได้เกิด 2 เชื้อสายขึ้นมา สายพันธุ์หนึ่งให้กำเนิดพวก palaeog naths ได้แก่ นกกระจอกเทศ นกอีมู หรือนกที่วิ่งแต่ไม่บิน ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ neognathes เป็นพวกที่บินได้ โดย neognathes ยังแยกออกเป็น 2 สายตั้งแต่ต้นๆประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ สายหนึ่งให้กำเนิดนกบนบก อีกสายเป็นนกน้ำ นอกจากนี้ การปรากฏตัวของนกเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์ภาวะโลกร้อนเมื่อ 55 ล้านปีก่อน โดยดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่พืชดอกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆปรากฏตัวครั้งแรก ซึ่งอาจช่วยเร่งกระบวนการวิวัฒนาการของนกให้เร็วขึ้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่