การพาประเทศไปสู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เชื่อว่าน่าจะเป็นเป้าหมายของหลายๆ ประเทศ แต่การบรรลุเป้าหมายนั้นต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างขับเคลื่อน ทั้งเวลา ทรัพยากรบุคคล และทุนรอน เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวสร้างความคึกคักในแวดวงวิจัยวิทยาศาสตร์ เมื่อ รัฐบาลอังกฤษประกาศจำนวนเงิน 319 ล้านปอนด์ หรือราว 14,435 ล้านบาท หนุนนักวิจัยจากอังกฤษทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งนายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมแถลงถึงงบสนับสนุนก้อนนี้เมื่อวันก่อนที่กรุงเทพฯ
การสนับสนุนด้านเงินทุนมหาศาลในครั้งนี้ระบุว่าหน่วยงานวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี (DSIT) ของสหราชอาณาจักร จะมอบผ่าน “กองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ” หรือ ISPF (International Science Partnerships Fund) โดยจะถูกจัดสรรใช้ตั้งแต่ปี 2565-2568 ผ่านองค์กรหลายแห่งที่เป็น “ดีลิเวอรี พาร์ตเนอร์” (Delivery partners) ของสหราชอาณาจักรและไทย
งบประมาณนี้เน้นในงานวิจัย 4 ประเด็นหลักคือ Resilient Planet, Transformative Technologies, Healthy People, Animals and Plants และ Tomorrow’s Talent ที่อาจสรุปโดยรวมได้ว่าต้องมุ่งการพัฒนาและสามารถส่งมอบองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในเรื่องการรับรู้ปรับตัวได้ของโลก สร้างเทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ศึกษาด้านสุขภาพมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของพรรณพืช-สัตว์ และสร้างบุคลากรแห่งอนาคต
ในส่วนของไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า นอกจากกองทุน ISPF แล้ว ยังจะมีการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนและนานาชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับแก้ไขปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน อีกสิ่งสำคัญก็คือการที่ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับบรรดานักวิชาการ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากนานาประเทศ
...
ความคืบหน้าในขณะนี้ ไทยมีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรภายใต้ ISPF ไปแล้ว 6 โปรแกรม โดยคาดหวังว่าอีก 10 โปรแกรมจะได้ร่วมมือกัน ถือเป็นการยกระดับความร่วมมืออันแข็งแกร่งในด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของทั้ง 2 ประเทศในการรับมือและแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลกที่เราต่างเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าจะสภาพอากาศ หรือปัญหาด้านสาธารณสุขหลายประการ
ตอกย้ำว่าวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้.
ภัค เศารยะ