นักวิทยาศาสตร์ในเกาหลีใต้ค้นพบวิธีปลูกเซลล์จากเนื้อลงในเมล็ดข้าว สร้างข้าวชนิดใหม่ที่มีโปรตีน และไขมัน สูงกว่าปกติ ทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกขณะผลิตน้อยกว่าเนื้อวัวหลายเท่าด้วย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 14 ก.พ. 2567 ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศความสำเร็จในการ ปลูกเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อวัวในเมล็ดข้าว โดยหวังให้มันกลายเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก ที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับธรรมชาติ
ผลงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสาร ‘Matter’ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถปลูกเมล็ดข้าวที่มีรูพรุนซึ่งเต็มไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อวัวได้ในห้องทดลอง โดยพวกเขาเคลือบเมล็ดข้าวด้วยเจลาตินของปลาก่อน เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อจับตัว จากนั้นจึงพักเมล็ดข้าวเอาไว้ในจานเพาะเชื้อ เพื่อการเพาะเลี้ยงมันเป็นเวลานานสุด 11 วัน
รายงานระบุอีกว่า ข้าวพันธุ์ผสมนี้มีสัมผัสที่แน่นและเปราะกว่าข้าวทั่วไป แต่มีโปรตีนกับไขมันมากกว่าราว 8% กับ 7% ตามลำดับ นอกจากนั้นเมื่อเทียบกับเนื้อวัวแล้ว มันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนในกระบวนการผลิตต่ำกว่ามาก เนื่องจากสามารถตัดขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากไปได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์อ้างว่า เพื่อให้ได้โปรตีนทุกๆ 100 กรัม กระบวนการผลิตข้าวพันธุ์ผสมนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 6.27 กิโลกรัม ขณะที่การผลิตเนื้อวัวจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ากันถึง 8 เท่า ที่ราว 49.89 กิโลกรัม
น.ส.พัค โซ-ฮยอน หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายว่า “ปกติเรามักได้รับโปรตีนที่เราต้องใช้มาจากปศุสัตว์ แต่การผลิตปศุสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรและน้ำมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากอีกด้วย” “แต่ลองจินตนาการเรื่องการได้รับสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากข้าวที่ผ่านการเพาะเซลล์โปรตีนดูสิ”
...
“ข้าวนั้นมีสารอาหารในระดับสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเพิ่มเซลล์จากปศุสัตว์เข้าไปจะยิ่งส่งเสริมมันขึ้นไปอีก” น.ส.พัคกล่าว “ฉันไม่นึกว่าเซลล์พวกนี้จะเติบโตในข้าวได้ดีเหลือเกิน ตอนนี้ฉันมองเห็นโลกแห่งความเป็นไปได้สำหรับธัญพืชพันธุ์ผสมนี้”
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหญ่ที่สุดของอาหารชนิดใหม่ที่พัฒนาจากในห้องทดลองคือเรื่องการยอมรับของสังคม
นับตั้งแต่มีเนื้อเบอร์เกอร์ผลิตในห้องแลบได้เป็นครั้งแรกที่อังกฤษเมื่อปี 2556 หลายบริษัททั่วโลกก็เข้าร่วมการแข่งขันการปลูกหรือเพาะเนื้อจากห้องทดลองป้อนเข้าสู่ตลาด
สิงคโปร์เพิ่งกลายเป็นเจ้าแรกของโลกที่ขายเนื้อไก่เพาะจากห้องทดลองให้แก่ผู้บริโภค แต่ที่อิตาลี พวกเขาหนุนกฎหมายแบนเนื้อที่ผลิตในห้องทดลอง เพื่อปกป้องวัฒนธรรมทางอาหารของประเทศเอาไว้ ขณะที่นักวิจารณ์หลายคนพยายามชี้ว่า ไม่มีอะไรที่เกิดจากการสังเคราะห์ในเนื้อจากห้องทดลองเลย เนื่องจากมันถูกสร้างขึ้นด้วยการปลูกเซลล์จากธรรมชาติ
ศาสตราจารย์ เนล วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเกษตรและสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัย อีสต์ แองเกลีย กล่าวว่า การวิจัยประเภทนี้ดีสำหรับการพัฒนาอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสภาพอากาศมากขึ้นในอนาคต แต่ผู้บริโภคบางคนต้องการการโน้มน้าวให้เชื่อเสียก่อน
“ในขณะที่ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสภาพอากาศออกมาดูดีมาก แต่บททดสอบสำคัญคือ ความต้องการของสังคมที่มีต่ออาหารซึ่งพัฒนาจากห้องทดลอง”.
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc