เมื่อวันที่ 13 ก.พ. สื่อต่างประเทศรายงานเกาะติดบรรยากาศโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่มีขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปกว่า 204.8 ล้านคน ออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ มีผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีจาก 3 พรรค ได้แก่ พล.ท.ปราโบโว สุเบียนโต วัย 72 ปี หัวหน้าพรรคเกอรินดราและ รมว.กลาโหมในรัฐบาลปัจจุบัน นายอานีส์ บาสเวดัน วัย 54 ปี ผู้สมัคร อิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วม 3 พรรค การเมือง อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา และนายกันจาร์ ปราโนโว วัย 55 ปี อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลางจาก พรรครัฐบาลพีดีไอ-พี
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ. เป็นช่วงเวลาที่ห้ามการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง หน่วยงานกำกับดูแลการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซีย (Bawaslu) ร่วมมือกับภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ ตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการซื้อสิทธิขายเสียงตลอด 24 ชม. บาวัซลูเผยว่า ตั้งแต่มีการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไประหว่าง 28 พ.ย.2566 จนถึง 10 ก.พ.2567 พบเนื้อหากระทำผิดดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียมากถึง 355 เนื้อหา ในจำนวนนี้มี 342 เนื้อหาที่โจมตีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ยังมีข่าวปลอม ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและการแบ่งแยกทางการเมือง อาทิ เชื้อชาติและศาสนา
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นที่จับตามองทั่วโลก เนื่องจากที่ผ่านมา นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบันที่เตรียมอำลาตำแหน่งในเดือน ต.ค.นี้ ดำเนินนโยบายต่างประเทศหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจีนและสหรัฐฯ วางตัวเป็นกลางเพื่อคานอำนาจระหว่างทั้ง 2 ชาติ โดยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน แต่ก็จับมือด้านการทหารกับสหรัฐฯ เสริมเขี้ยวเล็บให้แก่กองทัพอินโดนีเซีย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งสำหรับทั้ง 2 ชาติ หากผู้นำคนใหม่เลือกดำเนินตามนโยบายเดิม ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า พล.ท.สุเบียนโตคือตัวเต็งนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ทั้งยังมีแนวโน้มใช้นโยบายต่างประเทศแบบเดิมเช่นกัน
...
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ โดยตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก มีมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก อีกทั้งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ยังเป็นชาติที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ อินโดนีเซียเป็นสมาชิกในหลายองค์การระหว่างประเทศ อาทิ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) องค์การสหประชาชาติ (UN) และกลุ่ม 20 จึงเป็นตัวแสดงสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่