ผลการศึกษาใหม่ชี้ ทะเลน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่กำลังหดตัวลงเพราะภาวะโลกร้อน ทำให้หมีขั้วโลกจำนวนมากต้องหันไปหากินบนบกในฤดูร้อน และกำลังเผชิญภาวะอดอยาก

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสาร Nature Communications เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.พ. 2567 ชี้ว่า ทะเลน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือที่กำลังหดตัว ส่งผลให้หมีขั้วโลกต้องมาหากินบนบกในช่วงฤดูร้อน แต่ทีมวิจัยพบว่า หมีส่วนใหญ่มีน้ำหนักลดลง ไม่ว่าพวกมันจะพยายามใช้วิธีการใดเพื่อรักษาระดับไขมันในร่างกายเอาไว้ก็ตาม

ทีมนักชีววิทยาจากสหรัฐฯ และแคนาดา ทำการศึกษาหมีขั้วโลกบริเวณ ฮัดสัน เบย์ ทางตะวันเฉียงเหนือของแคนาดา เพื่อดูว่า พวกมันจะรักษาน้ำหนักของตัวเองในช่วงฤดูร้อน ท่ามกลางภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

พวกเขาพบว่า หมีบางตัวสามารถหาอาหารได้มากมาย แต่ก็ต้องใช้พลังงานเท่าๆ กันหรือมากกว่า ในการหาอาหารเหล่านั้น จนสุดท้าย น้ำหนักของพวกมันกลับลดลงแทน ขณะที่หมีบางตัวเข้าสู้ภาวะกึ่งจำศีล คือ ไม่ทำกิจกรรมอะไรมากนัก แต่น้ำหนักของพวกมันก็ยังลดลงอยู่ดี

เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น ทีมนักวิจัยจึงติดตั้งกล้องวิดีโอบนปลอกคอของหมีขั้วโลก 20 ตัว ให้พวกมันกินน้ำชนิดหนึ่ง เพื่อให้สามารถติดตามการรับและการใช้พลังงานของพวกมันได้ ก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อสังเกตการณ์

ผลการศึกษาการล่าหาอาหารของหมีขั้วโลกออกมาได้น่าประทับใจมาก โดย 19 จาก 20 ตัวกินหญ้าและสาหร่าย, 10 ตัวจากทั้งหมด กินเบอร์รี, 8 ตัวกินซากนก ขณะที่ 1 ใน 3 ของหมีที่ศึกษาทั้งหมดแทะกินกระดูก และ 4 ตัวกินเขากวางเรนเดียร์ โดยมีบางตัวกิน ไข่นก, สัตว์ฟันแทะ และกระต่ายด้วย

แต่หมีขั้วโลกกลับต้องใช้พลังงานมากในการหาอาหารเหล่านั้น โดยเฉลี่ยแล้ว พวกมันต้องเดินทางไกลถึง 93 กม. ใน 3 สัปดาห์ โดยมีหมีสาวตัวหนึ่งเดินทางไกลถึง 375 กม. ในช่วงเวลาเดียวกัน

...

ทีมนักวิจัยพบว่า หมี 19 จาก 20 ตัว มีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 21 กก. ตลอดช่วง 3 สัปดาห์ที่พวกเขาทำการศึกษา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวหมายความว่าพวกมันสูญเสียมวลของร่างกายไปถึง 7% ภายในเวลาเพียง 21 วัน

ดร.แครีน โรด นักชีววิทยาสัตว์ป่า จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (USGS) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัย อธิบายว่า “อาหาร โดยเฉพาะที่พวกมันหาได้ตอนอยู่บนบก มีแคลอรีต่ำมาก และหมีเหล่านี้ต้องใช้พลังงานเพื่อให้ได้พวกมันมา ตามปกติที่ทะเลน้ำแข็ง พวกมันเป็นนักล่าประเภทนั่งรอเหยื่อ และกินไขมันแมวน้ำเป็นอาหารหลัก ซึ่งให้แคลอรีจากโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต มากกว่าอาหารที่พวกมันหาได้บนบกเป็นเท่าตัว”

“เช่นเดียวกัน เวลาพวกมันว่ายออกไปในอ่าวแล้วเจอกับซากสัตว์ เราพบว่าเป็นเรื่องยากที่พวกมันจะกินซากสัตว์ขณะว่ายน้ำ และพวกมันเจอซากสัตว์แค่ซากเดียวใน 3 สัปดาห์เท่านั้น เทียบกับการจับแมวน้ำบนทะเลน้ำแข็ง ซึ่งได้หลายตัวในทุกๆ 2-3 วัน ดังนั้น มันจึงเป็นความแตกต่างใหญ่หลวงระหว่าง ความน่าจะเป็นในการหามาได้ และคุณภาพของทรัพยากรณ์ที่พวกมันสามารถหาได้ตอนอยู่บนบก”

ตามปกติแล้ว หมีขั้วโลกจะพยายามรักษาน้ำหนักร่างกายในช่วงฤดูร้อน หลังจากพวกมันกินจนอิ่มหนำ และสะสมไขมันเอาไว้มากมายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่การลดลงของทะเลน้ำแข็ง ทำให้หมีขั้วโลกที่ฮัดสัน เบย์ ต้องอยู่บนบกนานกว่ายุคปี 1980 ถึง 3 สัปดาห์

“หมีทุกตัวที่เราทำการศึกษา ที่เราติดตามในการศึกษานี้ มีสุขภาพที่เรียกได้ว่าดี ไม่มีหมีตัวไหนที่เราเห็นว่าสุขภาพแย่เลย โดยที่ต้องบอกไว้ก่อนว่า ช่วงเวลาที่เราเริ่มการศึกษานั้นอยู่ประมาณ กึ่งกลาง ของช่วงเวลาที่พวกมันอยู่บนบก อย่างที่ผมเคยพูด พวกมันมักขึ้นมาบนบกช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคม เราเริ่มงานนี้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ดังนั้นพวกมันจึงจะอยู่บนบกต่อไปราว 70 วัน และน้ำหนักของพวกมันจะลดลงเรื่อยๆ” ดร.แอนโธนี ปากาโน นักชีววิทยาสัตว์ป่าจาก USGS และหนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว

ศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติพบว่า เมื่อเดือนกันยายน 2566 ในช่วงที่ทะเลน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือเหลือปริมาณน้อยที่สุดประจำปี มีทะเลน้ำแข็งเหลือน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2522 ถึง 2.6 ล้านตร.กม.

ขณะที่สำนักงานสัตว์ป่าและพันธุ์ปลาของสหรัฐฯ จัดให้หมีขั้วโลกเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากการสูญเสียทะเลน้ำแข็งอันเป็นถิ่นที่อยู่

“ฉันคิดว่า การศึกษาของเราเป็นเครื่องยืนยันหลักฐานก่อนหน้านี้ที่ว่า หมีขั้วโลกปรับตัวเข้ากับการใช้เวลาบนบกได้ไม่ดีนัก มันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอื่นเกิดขึ้นที่นั่น เพื่อช่วยให้พวกมันอดทนต่อการใช้เวลาอยู่บนบกที่นานขึ้นได้” ดร.โรดกล่าว

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : ap