ในอดีต “ฮ่องกง” เป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวของบทบาทการเป็น “ศูนย์กลาง” ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ที่ผ่านมาต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไปจนถึงประเด็นด้านกฎหมายความมั่นคง ส่งผลให้ต้องปรับกลยุทธ์ขยับขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ขณะที่ภาคเอกชนอย่างสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (FHKI) 2 องค์กรที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการผลักดันการส่งเสริมธุรกิจระหว่างไทยและฮ่องกงขานรับนโยบาย นอกจากจะจัดเวทีเสวนาธุรกิจ “ปลดล็อกศักยภาพตลาดไทย” ให้กลุ่มธุรกิจจากฮ่องกงที่สนใจ ยังเป็นโอกาสในการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา
ภายในงานดังกล่าว นายสตีฟ ชอง ประธาน FHKI เผยว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกรอบความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยและฮ่องกง นอกเหนือไปจากการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกันภายในชุมชนธุรกิจ ขณะที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากร ประสบการณ์ ข้อมูล และให้คำปรึกษา และยกระดับความร่วมมือด้านต่างๆในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน เชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการค้าการลงทุนทั้งในไทยและฮ่องกง
ประธาน FHKI ยังระบุต่อด้วยว่า ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังถือเป็นคู่ค้าที่ใกล้ชิดมายาวนานของฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ด้วยกำลังแรงงานเกือบ 40 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับภาคการส่งออกของฮ่องกง เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมากและมีทักษะ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเสี่ยงและกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน
...
ด้าน นายพาร์สัน แลม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร ผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลแห่งเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประจำประเทศไทย ผู้รับผิดชอบการส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนด้านศิลป วัฒนธรรมและผู้คน กล่าวย้ำด้วยว่าไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมายาวนาน มูลค่าการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ในปี 2565 สูงเกือบ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 792,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากฮ่องกงยังสูงถึง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของไทย ยังมั่นใจว่าการค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่ายจะเดินหน้าเติบโตต่อไป.
อมรดา พงศ์อุทัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม