สุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ ขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์องค์ที่ 17 ของมาเลเซียในวันนี้

สุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ ขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์องค์ที่ 17 ของมาเลเซียในวันนี้ (31 ม.ค.) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนี้ หรือมากกว่า 34 ปีภายหลังการครองราชย์ของพระราชบิดา

ผู้คนหลายพันคนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในเมืองยะโฮร์บาห์รูและกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อส่งและรับเสด็จ เนื่องจากการแต่งตั้งสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 17 พระชันษา 65 ปี ได้สร้างความหวังว่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ การทูต และความสามัคคีในชาติ

สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ทรงร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่พระราชวังแห่งชาติในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงก่อนเที่ยงตามเวลาท้องถิ่น โดยสุลต่านอิบราฮิมทรงเครื่องแบบสีดำของกองกำลังทหารยะโฮร์ พระองค์ทรงลงนามในพระราชสาสน์แต่งตั้ง ต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติหลายร้อยคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก่อนที่จะได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งยังดี เปอร์ตวน อากง หรือผู้ปกครองสูงสุด

สุลต่านอิบราฮิมได้รับเลือกเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 หลังจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือสุลต่าน ได้ประชุมสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐของมาเลเซีย เพื่อลงคะแนนว่าสุลต่านองค์ใดจะได้เป็นประมุขแห่งรัฐคนต่อไป ภายใต้ระบอบกษัตริย์แบบหมุนเวียนของมาเลเซีย ที่จะเลือกจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือสุลต่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้แก่ ยะโฮร์, ตรังกานู, ปะหัง, สลังงอร์, เกดะห์, กลันตัน, เนเกอรีเซมบิลัน, เปรัก และปะลิส ซึ่งมีวาระครองราชย์คราวละ 5 ปี

...

ขณะที่วาระของผู้ปกครองรัฐปะหัง อัล-สุลต่าน อับดุลละฮ์ ริยาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลลาห์ ชาห์ สิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) ส่วนสุลต่านแห่งเประ สุลต่านนาซริน ชาห์ ผู้ได้รับเลือกเป็นรองพระราชาธิบดีในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม ก็ได้สาบานตนรับตำแหน่งรองพระราชาธิบดีในวันนี้เช่นกัน

อาดิบ ซัลคาปลี นักวิเคราะห์การเมือง ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษานโยบายสาธารณะ BowerGroupAsia กล่าวว่าบทบาทของกษัตริย์ในมาเลเซียได้รับการพัฒนาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เขาตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้กษัตริย์ทรงแสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ทรงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในมาเลเซีย ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขภาวะชะงักงันทางการเมือง หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2565 เมื่อพระองค์ทรงแต่งตั้งนายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นผู้นำรัฐบาลเอกภาพ

นายอาดิบตั้งข้อสังเกตว่า รูปแบบการตรัสแบบตรงไปตรงมาของพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ และความเต็มใจที่จะให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล หมายความว่าผู้ปกครองจะกำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อไป.

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign