• บ้านร้างในชนบทของญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ด้วยราคาถูกไม่ถึงล้านบาท และมีให้เลือกมากมาย ขณะที่คนในพื้นที่กลับไม่ต้องการ แต่ก็ไม่ทุบทิ้ง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายรื้อถอน และเสียภาษีแพง
  • จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีบ้านร้างในชนบทของญี่ปุ่นมากถึงราว 8.5 ล้านหลัง ซึ่งสาเหตุเกิดจากประชากรที่มีจำนวนลดลง และคนหนุ่มสาวนิยมย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น และมองว่าบ้านเหล่านี้เป็นภาระสำหรับพวกเขา
  • ด้านสถาบันวิจัยโนมูระ หรือ NRI คาดการณ์ว่า ภายในปี 2576 สัดส่วนของบ้านร้างอาจเกิน 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประชากรที่ลดลง

อะกิยะ หรือ บ้านร้างในชนบทของญี่ปุ่น กำลังกลายเป็นความหวังใหม่ของชาวต่างชาติ ที่อยากจะครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นราคาถูก โดยข้อมูลการสำรวจบ้าน และที่ดิน ในปี 2018 ของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า มีบ้านร้างหรือ อะกิยะ ประมาณ 8.5 ล้านหลังทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณ 14% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด และคาดว่าหากมีการสำรวจเพิ่มเติม ตัวเลขจริงอาจจะพุ่งสูงกว่านี้ โดยสถาบันวิจัยโนมูระ หรือ NRI คาดการณ์ว่า สัดส่วนของบ้านร้างอาจเกิน 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น ภายในปี 2033

สาเหตุหลักที่ทำให้บ้านร้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ทั้งจากจำนวนประชากรที่ลดลง และการย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมือง โดยพบว่าชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่นิยมสร้างบ้านใหม่มากกว่าจะปรับปรุงบ้านหลังเก่า เพราะกังวลเรื่องโครงสร้าง และความแข็งแรงที่ต้องรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ส่งผลให้บ้านเก่าๆ จำนวนมากกลายเป็นปัญหาสำหรับคนในท้องถิ่น ตรงข้ามกับชาวต่างชาติที่มองว่านี่เป็นโอกาสให้พวกเขาสามารถมาเป็นเจ้าของบ้านในต่างประเทศได้ในราคาเฉลี่ยไม่ถึง 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยพบว่าในตลาดซื้อขายบ้าน มีบ้านร้างในชนบทลงขายอยู่หลายล้านหลังแล้ว และชาวต่างชาตินิยมซื้อไว้เพื่อปล่อยให้เช่าทำธุรกิจ

...

สาเหตุที่บ้านร้างในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

บิสสิเนท อินไซเดอร์ สื่อของสิงคโปร์รายงานว่า ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาเมืองร้างมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของปัญหาก็คือ ประชากรชาวญี่ปุ่นทยอยย้ายถิ่นฐานไปในเมืองต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ย่านชนบทแทบจะไม่เหลือใครยกเว้นผู้สูงอายุเท่านั้น

ริชาร์ด คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยโนมูระ ระบุว่า พื้นที่ชนบทของญี่ปุ่นเริ่มถูกทิ้งร้างมานับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 ในขณะที่จำนวนประชากรก็ลดลง ทั้งอัตราการตั้งครรภ์ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันมาจนถึงปี 2022 ส่วนอัตราการใก้กำเนิดบุตรต่อประชากรผู้หญิง 1 คน ก็ลดลงจาก 1.30 มาอยู่ที่ 1.26 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

ทำไมชาวญี่ปุ่นไม่นิยมซื้อบ้านร้างเหล่านี้?

ดักลาส เซาเทอร์แลนด์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ชอบที่จะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เนื่องจากโครงสร้างบ้านสมัยเก่ามักจะสร้างไว้ก่อนหน้าปี 1981 ซึ่งยังเป็นโครงสร้างที่ไม่ทันสมัย ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่สามารถรองรับกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้

และท้ายที่สุด คือ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในชนบท แต่ต้องการไปแสวงหาโอกาสการทำงานในเมืองหลวง รวมทั้งไม่ชอบบรรยากาศความรกร้างว่างเปล่าของบ้านร้างจำนวนมาก ไร้เพื่อนบ้าน ทำให้พวกเขายิ่งไม่สนใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เหล่านี้อีกต่อไป

ด้านนาตาชา ดูรี นักศึกษาปริญญาเอกจากคณะมนุษยวิทยาชาติพันธุ์วิทยาและพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่ลงพื้นที่ทำวิจัยที่เมืองกิฟุ พบว่า แม้ว่าอาจจะมีคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่ซื้อบ้านร้างเหล่านี้ และนำไปรีโนเวตใหม่ แต่คนในพื้นที่ก็ยังไม่สนใจที่จะซื้อบ้านเหล่านี้เพื่ออยู่อาศัยเองอยู่ดี ดังนั้นคนในพื้นที่จึงไม่สนใจที่จะทุบบ้านเก่าเพื่อทำบ้านใหม่ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายมาก และไม่คุ้มค่า

...

ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ทุบทำลายบ้านร้างทิ้ง?

กฎหมายสิทธิในทรัพย์สินของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลมีความยากลำบากในการมาแทรกแซง และจัดการในเรื่องนี้ โดยก่อนช่วงปี 2015 รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้เจ้าของบ้านมาจัดการบ้านเรือนในครอบครองของเขาได้

อีกประเด็นสำคัญก็คือ ทางการมักจะไม่สามารถที่จะติดตามหาตัวเจ้าของบ้านได้ หลังจากที่พวกเขาทิ้งบ้านเรือน หรือย้ายออกไปแล้วเป็นเวลานาน และการติดตามหาตัวจะใช้เวลานานมาก ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะตามหาเจ้าของ และทำให้ภาครัฐไม่สามารถจะทุบทำลายบ้านทิ้งได้

การปรับปรุงบ้านใหม่คุ้มค่ากว่าการซื้อ

สำหรับผู้ซื้อบางคนอย่าง เอริค แม็คแอสกิล ชาวแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา กล่าวว่า เงินที่เขาลงทุนซื้อ และปรับปรุงบ้านร้างในญี่ปุ่น ถูกกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในแคนาดาหลายเท่า จนเขาไม่อยากพลาดโอกาสนี้

โดยข้อมูลของ สมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งแคนาดา ระบุว่า ราคากลางของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในย่านเมืองของแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อเดือน ธ.ค.2566 อยู่ที่ 866,620 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30 ล้านบาท ซึ่งนายแม็คแอสกิล เล่าว่า เขาซื้อบ้านร้าง 5 ห้องนอน ในจังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ในราคา 23,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 785,000 บาท และใช้เงินอีก 7,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 260,000 บาท สำหรับปรับปรุงบ้าน แถมยังมีเงินเก็บเหลือใช้จ่ายได้อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนคู่สามีภรรยา จายา และ ชิฮิโระ เธอร์สฟิลด์ ที่ย้ายจากอังกฤษมายังญี่ปุ่น ได้ซื้อบ้านร้างในจังหวัดอิบารากิ ในปี 2019 ด้วยราคา 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ และใช้เงินซ่อมแซมปรับปรุงบ้านไปประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่านายแม็คแอสกิล แต่ก็ยังมองว่านี่เป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าการซื้อบ้านในลอนดอนอยู่ดี

...

ขณะที่ ทาเกะ คุโรซาวา และ โจอี สต็อกเกอร์แมนส์ ที่ไม่มีกำลังซื้อบ้านในบ้านเกิดของพวกเขาในอเมริกาเหนือ แต่พวกเขาสามารถซื้อบ้านร้างในเมืองคิวชูได้ในราคา 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย.2023 ที่ผ่านมา โดยวางแผนที่จะใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ และเปิดให้เช่าในช่วงสั้นๆ อีกทั้งยังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจด้วยการเปิด Akiyamart เว็บไซต์ค้นหาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บ้านร้างจะเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่ทัศนคติของคนในท้องถิ่นที่มีต่อบ้านร้างเหล่านี้ก็ยังไม่เปลี่ยนจากเดิมนัก โดยนาตาชา ดูรี ระบุว่า จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ พบว่าพวกเขาไม่รู้ว่าชาวต่างชาติกำลังให้ความสนใจกับบ้านร้างแบบนี้ แถมยังแปลกใจที่เป็นเช่นนั้นด้วย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้เดินหน้านโยบายขายบ้านร้างในราคาถูกให้แก่ชาวต่างชาติมาแล้วหลายปี เพื่อหวังแก้ปัญหาบ้านร้างที่เพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลก็จะได้ผลพลอยได้จากรายได้เพิ่มจากการเสียภาษีของชาวต่างชาติที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น รวมทั้งยังเป็นการฟื้นฟูย่านชุมชนที่รกร้างเงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตชีวิตอีกครั้ง งานนี้จึงถือเป็นสถานการณ์ที่วิน-วินทั้งสองฝ่าย เพราะชาวต่างชาติก็ได้บ้านพักตากอากาศราคาถูก ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ผลประโยชน์ทางอ้อม แต่อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะตราบใดที่อัตราการเกิดของประชากรลดลงต่อเนื่อง จำนวนบ้านร้างในญี่ปุ่นก็จะเพิ่มขึ้นไม่หยุด ขณะที่หลายๆ ประเทศก็อาจจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์แบบเดียวกับญี่ปุ่นในไม่ช้าเช่นกัน.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : SCMPNYtimes

...

คลิกอ่านข่าวรายงานพิเศษ ที่นี่