น่าจะประมาณปี พ.ศ.2560-2561 เห็นจะได้ มีข่าวใหญ่ในหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้านการเงินการธนาคารว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของประเทศไทยเราจะไปซื้อหุ้น “ส่วนใหญ่” ของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย

ในข่าวบอกว่าอาจซื้อสูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งมีความหมายว่า ธนาคารอิเหนาแห่งนี้จะตกเป็นของธนาคารบัวหลวงเราทันที เมื่อการซื้อขายหุ้นสมบูรณ์แล้ว

จึงมีการตั้งคำถามกันพอสมควรว่า ทำไมแบงก์บัวหลวงจะต้องไปซื้อหุ้นธนาคารต่างแดนที่อยู่นอกบ้านเรา และจะต้องใช้เงินถึง 80,000-90,000 ล้านบาท ซึ่งก็สูงพอสมควรใน พ.ศ.นั้น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็จริง แต่ก็มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทย และในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วง 50 ปีที่แล้ว ก็ดูลุ่มๆดอนๆเพราะมีการเมืองเข้ามายุ่งตลอด

จะคุ้มไหมหนอ? กับเงินก้อนใหญ่ที่ธนาคารกรุงเทพจะต้องจ่าย และแน่นอนเงินเหล่านี้ก็เป็นของประชาชนคนไทย ทั้งที่เป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงเทพและลูกค้าเงินฝากของธนาคารนั่นเอง

ผมเองก็มีส่วนตั้งคำถามเหล่านี้และก็ได้รับคำชี้แจงจากคุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารอย่างละเอียดในทุกข้อสงสัย ทั้งของประชาชนของสื่อต่างๆและของผมเองเป็นการส่วนตัว

จำได้ว่าคุณชาติศิริเริ่มตั้งแต่การเล่าประวัติศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพว่า มีสาขาถึง 4 สาขาในเมืองใหญ่ๆของอินโดนีเซีย รู้ตื้นลึกหนาบางทุกสิ่งอย่างของอินโดนีเซียอยู่พอสมควร

รู้ว่าอินโดฯกำลังจะกลับมาเติบโตด้วยพลังประชากรกว่า 270 ล้านคนและมีหนุ่มสาวจำนวนมากเป็นกำลังหลัก

หลายๆปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศนี้โตเกิน 5 เปอร์เซ็นต์มาตลอด โดยไม่ได้มีการอัดฉีดอะไรเพิ่มเติม และเมื่อมองในแง่ของธุรกิจการธนาคารก็พบว่า มีช่องทางที่จะเจริญเติบโตได้อีกมาก ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ และ ฯลฯ

...

ผมจำได้ว่านำมาเขียนลงคอลัมน์ถึง 2 วัน เพื่อให้ประชาชนที่เป็นลูกค้าธนาคารกรุงเทพ (รวมทั้งผมด้วยซึ่งเป็นโดยธรรมชาติ เนื่องจากไทยรัฐใช้บริการธนาคารกรุงเทพมาโดยตลอด จ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงเทพมาตั้งแต่เดือนแรกที่ผมมาทำงาน) เกิดความสบายใจ

หลังจากนั้นการซื้อหุ้นธนาคารอินโดนีเซียที่ว่าก็ดำเนินต่อไปและประสบความสำเร็จ ได้รับอนุมัติทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางของอินโดนีเซีย ตามถ้อยแถลงของคุณ เดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 2562

ธนาคารอินโดนีเซียแห่งนี้มีชื่อว่า ธนาคาร “เพอร์มาตา แบงก์” (Permata Bank) ครับ เป็นธนาคารมาจากการควบรวมกันของ 5 ธนาคารขนาดเล็ก เมื่อ พ.ศ.2545 หลังจากประสบปัญหาโรคต้มยำกุ้งระบาดไปทั่วเอเชีย เมื่อ พ.ศ.2540 นั่นเอง

ห้วงเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ได้แก่ นาง เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี ซึ่งมีชื่อเต็มๆว่า “Diah Permata Megawati Setiawati Sukarnoputri” ทางการอินโดฯจึงนำชื่อต้นของท่าน “Permata” มาเป็นชื่อของ ธนาคารใหม่ หลังการรวมตัวเมื่อ พ.ศ.2545 เรียบร้อยแล้ว

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร Permata ในช่วงแรก ได้แก่ ธนาคาร Astra International กับธนาคาร Standard Chartered Bank ดำเนินกิจการมาได้ดีพอสมควร ขยับขึ้นเป็นธนาคารอันดับที่ 12 ของประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ต่อมาธนาคารกรุงเทพซึ่งมีสาขาอยู่ในอินโดนีเซียเห็นแวว จึงตัดสินใจเข้าซื้อกิจการจนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2562 ตามที่คุณ เดชา ตุลานันท์ แถลงกับผู้สื่อข่าวที่ผมรายงานไว้ข้างต้น

นึกว่าจะเขียนสั้นๆวันเดียวจบ แต่เอาเข้าจริงๆทำท่าจะจบไม่ลงเสียแล้ว เพราะยังไม่ได้พูดถึงสถานภาพปัจจุบันที่ผมเพิ่งไปเยี่ยมเยือนได้ดูได้ชมได้พูดได้คุยกับผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงระดับสาขามาพอสมควร จนเกิดความมั่นใจว่า การตัดสินใจของธนาคารกรุงเทพอันใหญ่หลวงเมื่อ 2-3 ปีก่อน “ถูกต้อง” อย่างยิ่ง

ขอต่อพรุ่งนี้อีกวันนะครับ สำหรับเรื่องราวของธนาคารอินโดนีเซียที่ผมก็เพิ่งรู้นี่แหละ ว่าใช้ชื่อส่วนหนึ่งของอดีตประธานาธิบดีหญิงมาตั้งจนเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม