ถือเป็นเวทีที่มีผู้นำการเมืองและภาคธุรกิจมารวมตัวกันคึกคักที่สุดในโลกสำหรับ “เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม 2024” ที่เมือง ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากจะถกกันเครียดเรื่อง “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” (Rebuilding Trust) ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงทน ไม่อาจยุติได้โดยง่าย (permacrisis) ยังมีการประชุมสัมมนาหัวข้อต่างๆมากกว่า 200 หัวข้อ รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างกว้างขึ้นเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19

จากรายงานของ “องค์กรต่อต้านความยากจน” (Oxfam International) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรก่อตั้งในอังกฤษ บ่งชี้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้ครึ่งโลกจนลง แต่มหาเศรษฐีรวยขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถูกขยายถ่างกว้างขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2020 ที่โลกผจญกับการแพร่ระบาดของโควิด อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของโลก 5 อันดับแรก กลับมีความมั่งคั่งรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 155% จาก 340 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทะยานขึ้นเป็น 869 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สวนทางกับประชาชนเกือบ 5,000 ล้านคนทั่วโลก ที่ยากจนลงกว่าเดิมและไม่เห็นหนทางจะลืมตาอ้าปากได้

5 อภิมหาเศรษฐีรวยที่สุดของโลก ซึ่ง “อ็อกซ์เฟม อินเตอร์เนชันแนล” นำมาคำนวณมาจากทำเนียบอภิมหาเศรษฐีบิลเลียนแนร์ ปี 2023 จัดอันดับโดยฟอร์บส์ ประกอบด้วย “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” เจ้าอาณาจักร LVMH ถือครองทรัพย์สิน 211 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, “อีลอน มัสก์” เจ้าพ่อเทสลา ถือครองทรัพย์สิน 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, “เจฟฟ์ เบซอส” ผู้ก่อตั้ง Amazon ถือครองทรัพย์สิน 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, “แลร์รี เอลลิสัน” ผู้ก่อตั้ง Oracle ถือครองทรัพย์สิน 107 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ถือครองทรัพย์สิน 106 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

...

“อมิตาภ เบฮาร์” รักษาการผู้อำนวยการบริหารของ “อ็อกซ์เฟม อินเตอร์เนชันแนล” ตีแผ่ว่า ประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว (Global North) มีสัดส่วนคิดเป็น 21% ของประชากรโลก แต่กลับถือครอง ความมั่งคั่งทั่วโลกถึง 69% และมีมหาเศรษฐีของโลกอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว 74% ขณะที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกถึง 43%

“อ็อกซ์เฟม อินเตอร์เนชันแนล” ยังคาดการณ์ว่า ภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้าจะมีอภิมหาเศรษฐีระดับ “ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” ที่เรียกว่า “trillionaire” เกิดขึ้นเป็นคนแรก และต้องใช้เวลามากกว่า 200 ปี จึงจะสามารถยุติปัญหาความยากจนให้หมดไปจากโลก

ทั้งนี้ “จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์” เจ้าของธุรกิจสแตนดาร์ด ออยล์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชิคาโกและมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ เปิดทำเนียบเป็น “บิลเลียนแนร์คนแรกของโลก” เมื่อปี 1916 ซึ่งจะต้องมีทรัพย์สินรวมมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

องค์กรต่อต้านความยากจนเสนอแนะมาตรการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเก็บภาษีความมั่งคั่งอย่างถาวรกับคนรวยๆในทุกประเทศทั่วโลก เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ตลอดจนออกกฎเกณฑ์เข้มงวดเพื่อต่อต้านการหลบเลี่ยงภาษี โดยลงโทษคนโกงภาษีให้หนัก

การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยท้าทายที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ

คำว่ารวยกระจุก...จนกระจาย คงไม่มีวันหมดไปจากโลกง่ายๆ!!.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม