ทีมสำรวจนานาชาติค้นพบหมึกยักษ์สายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 4 ชนิด ระหว่างการสำรวจใต้ทะเลลึกนอกชายฝั่งของประเทศคอสตาริกา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 17 ม.ค. 2567 ว่า ทีมสำรวจของนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติ ค้นพบหมึกยักษ์ (Octopus) สายพันธุ์ใหม่ 4 ชนิด บริเวณภูเขาใต้ทะเลในพื้นที่เล็กๆ ขนาดประมาณ 100 ตารางไมล์ นอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ของประเทศคอสตาริกา

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบแหล่งอนุบาลหมึกยักษ์ 2 แห่งเชื่อมต่อกันด้วยน้ำพุร้อนระหว่างการสำรวจครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2566 และในสถานที่ที่ห่างจากน้ำพุดังกล่าว ทีมสำรวจก็พบหมึกยักษ์สายพันธุ์ใหม่อีกหลายชนิด

“ตอนเรากลับไปเมื่อปีก่อน เราหวังว่าจะพบสถานที่นั้นอยู่ และเราพบมัน และเมื่อเราไปถึงที่นั่น ลูกหมักยักษ์ตัวหนึ่งก็ออกมา มันบ้ามากที่ได้เห็นสิ่งนั้น” นายฮอร์เก คอร์เตส-นูเญซ จากมหาวิทยาลัยแห่งคอสตาริกา กล่าว โดยเขากับ ดร.เบธ ออร์คัตต์ จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มหาสมุทร ‘บิเกโลว์’ ในสหรัฐฯ เป็นผู้นำการสำรวจ

“ดูเหมือนว่า พวกมันเป็นหมึกยักษ์ 4 สายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่นี้ ซึ่งไม่ใหญ่มาก ทำให้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์” คอร์เตส-นูเญซกล่าว “มันเป็นเรื่องคาดไม่ถึง ว่าจะค้นพบหมึกยักษ์หลายสายพันธุ์ขนาดนี้ ในพื้นที่เล็กๆ นั้น ทั้งในครั้งแรกและครั้งที่ 2 ที่ความลึก 3,000 ม. ซึ่งลึกมาก และตอนนี้เราอาจมีหมึกยักษ์พันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์แล้ว”

“นอกจากนั้น เรายังพบระหว่างควบคุมโดรนใต้น้ำขึ้นลงมหาสมุทร ว่ามีหมึกยักษ์สายพันธุ์อื่นๆ ในห้วงน้ำ (Water Column) แถบนั้นด้วย” นายคอร์เตส-นูเญซ ระบุ

หนึ่งหมึกยักษ์สายพันธุ์ใหม่ที่พบ อยู่ในตระกูล ‘มุสออกโทปุส’ (Muusoctopus) ซึ่งเป็นตระกูลของหมึกยักษ์ที่พบได้ทั่วโลก โดยจะได้รับการตั้งชื่อว่า ‘โดราโด ออกโทปุส’ (Dorado Octopus) ตามชื่อสถานที่ที่มีการค้นพบมัน ซึ่งเป็นชั้นหินที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมาและมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘เนิน เอล โดราโด’ (El Dorado Hill)

...

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หมึกยักษ์ตระกูลมุสออกโทปุสสายพันธุ์ใหม่นี้ กลายเป็นหลักฐานอีกชิ้นว่าพวกมัน วางไข่ในน้ำพุอุ่นบนพื้นผิวทะเล

ทั้งนี้ ทีมสำรวจเก็บตัวอย่างสายพันธุ์สัตว์ใต้ทะเลลึกได้มากกว่า 160 ชนิด ระหว่างการสำรวจในเดือนธันวาคม 2566

“การสำรวจนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อไปและศึกษาพวกมันและเก็บตัวอย่างพวกมัน และเรากำลังค้นพบว่าสัตว์สายพันธุ์ใหม่ มีไข่ที่สามารถอยู่รอดได้ และเรากำลังตรวจสอบเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของพวกมัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอุณหภูมิ แต่ยังรวมถึงเรื่องออกซิเจน และองค์ประกอบอื่นๆ ในน้ำ เรามีเครื่องมือและเก็บตัวอย่างน้ำนั้น แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างจากจุดอื่นๆ ดังนั้น มันจะมีข้อมูลมากมาย จะต้องใช้เวลาหลายปีในการประมวลทุกอย่าง” นายคอร์เตส-นูเญซ อธิบาย

ตัวอย่างที่เก็บมาได้จะถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา ในมหาวิทยาลัยแห่งคอสตาริกา ร่วมกับตัวอย่างอีกมากกว่า 150 ตัวอย่างที่เก็บมาได้ระหว่างการสำรวจในเดือนมิถุนายน

นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบแหล่งอนุบาลไข่สัตว์ทะเลลึกอยู่บนภูเขาใต้ทะเลอีกแห่งในทะเลคอสตาริกา โดยตั้งชื่อเล่นให้มันว่า ‘สเกต พาร์ก’ (Skate Park)

“นี่เป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่แก่คอสตาริกาอย่างแท้จริง ให้พวกเขาได้รู้จักกับพื้นที่ใต้ทะเลลึก” นายคอร์เตส-นูเญซ กล่าว “เรากำลังใช้ทุกสิ่งทุกอย่างจากการสำรวจครั้งก่อนๆ และโดยเฉพาะตอนนี้ เรากำลังใช้ทุกอย่างนั้นเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและอนุรักษ์พื้นที่ใต้ทะเลลึกเหล่านี้เ เราจึงกำลังผลักดันการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่า เราปกป้องพื้นที่นี้ไว้”

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : ap