เสียงสงครามดังระงมขึ้นอีกครั้ง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกองทัพพันธมิตร “สหรัฐฯ-อังกฤษ” ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศขนานใหญ่ต่อประเทศ “เยเมน”

ถล่มเป้าหมายทางการทหารกว่า 70 เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศ ระบบยิงจรวดและขีปนาวุธ โรงงานผลิตอาวุธ คลังแสง หรือหน่วยงานความมั่นคง ด้วยฝีมือฝูงบินจากกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯในทะเลแดง และฝูงบินกองทัพอากาศอังกฤษ รวมถึงจรวดโทมาฮอว์กจากขบวนเรือพิฆาตคุ้มกัน

พร้อมประกาศกร้าวความชอบธรรม เราจำเป็นต้องโจมตีเพื่อตอบโต้และสั่งสอนกลุ่มการเมือง “ฮูตี” ในเยเมน ที่สร้างความปั่นป่วนแก่เส้นทางเดินเรือสากล ก่อเหตุยิงโจมตีเรือสินค้าเป็นจำนวนมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังฮูตีประกาศจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง “ฉนวนกาซา-อิสราเอล”

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของแวดวงความมั่นคงก็ใช่ว่าจะประหลาดใจ เสียเท่าไรนักที่กองทัพสหรัฐฯและอังกฤษตัดสินใจทิ้งระเบิดใส่ประเทศเยเมน เนื่องด้วยสัญญาณอันตรายถือว่าค่อนข้างชัดเจนมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. แล้ว จากปากของ พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ที่เชิญชวนชาติพันธมิตรมาร่วมกันปกป้องทะเลแดงจากภัยคุกคามของกลุ่มฮูตี ภายใต้รหัสปฏิบัติการ “พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง” พรอสเพอริตี การ์เดียน

ยังไงเสียสหรัฐฯก็คงลุยแน่ เพียงแต่ที่ล่าช้ามาจนถึงวันนี้เพราะมันมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวพันกันเต็มไปหมด ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯต้องสะสาง ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งประการแรกคือการระดมเสียงสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตกและประเทศในตะวันออกกลางให้ดูเหมือนว่าสหรัฐฯไม่ได้ตัดสินใจเพียงคนเดียว

...

ประการที่สอง ประเทศเยเมนถือว่ายังอยู่ในสภาพ “สงครามกลางเมือง” ระหว่างกลุ่มฮูตีกับกลุ่มรัฐบาลสาธารณรัฐชุดเก่า และเป็นที่ทราบกันอย่างไม่เป็นทางการว่าคือสงครามตัวแทนระหว่าง “อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย” การแทรกแซงใดๆจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนทางการเมืองสูงว่าทำเช่นไรจะไม่ล้ำเส้นซาอุฯ ซึ่งกำลังมึนตึงกับรัฐบาลเดโมแครตสหรัฐฯ และจะมีความเสี่ยงที่จะยั่วยุอิหร่าน ซึ่งอยู่ในสถานะ “ศัตรูอย่างเปิดเผย” กับรัฐบาลอเมริกัน มากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม สถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซากำลังตึงเครียด อย่างหนัก อิสราเอลดำเนินการโจมตีกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์อย่างหนักหน่วง ไม่เฉพาะแต่ฉนวนกาซา แต่ยังรวมถึงการโจมตีภายในดินแดนอธิปไตยของ “เลบานอน” และ “ซีเรีย” เพื่อนบ้านทางตอนเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ

หลังปรากฏชัดเจนว่า ศัตรูของอิสราเอลไม่ได้มีเพียงแต่กลุ่มฮามาส แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มติดอาวุธฮาร์ดคอร์ “ฮิซบอลเลาะห์” ในเลบานอน และหน่วยนักรบนิรนามในซีเรีย ที่อิสราเอลและชาติตะวันตกกล่าวหาว่าคือสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน “เรโวลูชันนารี การ์ด” ซึ่งเป็นกองกำลังหัวกะทิของอิหร่านที่ถูกส่งไปปฏิบัติการลับ เล่นเกมใต้ดินนอกประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

จะทำเช่นไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามไปยิ่งกว่านี้ ซึ่งดีไม่ดีอาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางที่อิสราเอลถูกรุมกินโต๊ะ จนเกือบถูกลบออกจากแผนที่ แต่ถ้านิ่งเฉยไม่แสดงพลังให้เห็นบ้างก็ย่อมเสียยี่ห้อพญาอินทรี และก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐฯยุคนี้สามารถท้าทายลูบคมได้ใช่หรือไม่

ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการเดินเกมการเมืองขั้นสูงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวตัดสินใจส่ง “แอนโทนี บลิงเคน” รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ถูกแซวในระยะหลังว่าคือคอมมานเดอร์ อินชีฟ ผู้บัญชาการสูงสุดตัวจริง บินลัดฟ้าเข้าเกลี้ยกล่อมรัฐบาลจอร์แดน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล ให้ทุกคนพบกันครึ่งทาง อิสราเอลลุยต่อได้แต่สุดท้ายต้องไม่ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดน จนสร้างปัญหาให้แก่ชาติอาหรับรอบๆ ที่อาจจะต้องแบกรับภาระผู้อพยพในอนาคต

ลดอุณหภูมิแนวรบอิสราเอลไม่ให้ถึงจุดเดือด เพื่อเหลือช่องให้สหรัฐฯเข้าโจมตีเยเมน ปกป้องเส้นทางเดินเรือสากล คงไว้ซึ่งบทบาทผู้รักษาระเบียบโลกยุคหลังสิ้นสุดสงครามเย็นกระนั้น คำถามที่หลีกหนีไม่พ้นคือ การโจมตีประเทศเยเมนของกองทัพสหรัฐฯ-อังกฤษ จะนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งเช่นไรต่อไป เพราะหลังจากเกิดเหตุไม่นานก็ปรากฏผลลัพธ์ว่าฐานทัพสหรัฐฯในอิรักถูกโจมตี ขณะที่กองทัพเรือของอิหร่านก็ดำเนินการยึดเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวโอมาน โดยเป็นเรือลำเดียวกันที่เคยขนน้ำมันดิบของอิหร่าน แต่ถูกสหรัฐฯเข้ายึดและสูบน้ำมันไปเกือบ 1 ล้านบาร์เรล ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร

หากคิดในแง่บวกแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่แนวรบ “เยเมน” จะเป็นการแสดงพลังแบบระยะสั้น เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของพญาอินทรี? เพราะเอาเข้าจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯเองก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะรับศึกหลายด้าน เรื่องยูเครนก็ยังไม่จบ ขณะที่การเมืองในประเทศกำลังเข้าสู่ปีแห่งการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันกำลังทำคะแนนอย่างต่อเนื่อง ขยี้รัฐบาลว่า เอาแต่ก่อสงคราม ขยายความขัดแย้งในต่างแดน ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาภายใน

โดยเฉพาะประเด็นผู้อพยพข้ามพรมแดนยูเอส-เม็กซิโก ที่หลั่งไหลกันมาจากภูมิภาคอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ วันละหลักหมื่นคน จนหลายรัฐต้องออกมาตรการปกป้องตัวเองแบบ “ตัวใครตัวมัน” และส่งผลให้เหล่า สส.-ส.ว.นำไปใช้เป็นประเด็นขัดขวางการผ่านร่างงบประมาณของรัฐบาลในสภาคองเกรส.


วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ "7 วันรอบโลก" เพิ่มเติม

...