เปิดศึกปีชงระหว่าง “แพรรี่ ไพรวัลย์” กับ “หมอลักษณ์” วิวาทะกันเดือด ลามถึงปมเหยียดเพศ หลังอดีตพระนักเทศน์ชื่อดังออกมาฟาดแรง “ปีชงมันมีไว้สำหรับหลอกคนโง่ค่ะ เพราะมันขายของได้ไงถ้ามันบอกว่าชง ปีชงตามมาด้วยการทำพิธีกรรม ทุกอย่างแก้ได้ด้วยการเสียเงิน หลอกกับความเชื่อของคนให้เขาไปทำพิธีแล้วมันหายไหม เสียเงินเท่าไหร่...”

ถามว่าสังคมไทยได้อะไรจาก “ดราม่าปีชง” อย่างน้อยก็ได้ขบคิด และทบทวนตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพุทธพาณิชย์ ที่หากินกับความเชื่อความงมงายจนเกินไปของคนไทย

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของ “ปีชง” ในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีการบันทึกเรื่องปีชง แต่แนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยยุคเสื่อผืนหมอนใบได้นำประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตในต่างถิ่น รวมถึงความเชื่อเรื่องปีชง ซึ่งมีประวัติยาวนานหลายพันปี

ตามหลักความเชื่อทางโหราศาสตร์ของจีนตั้งแต่ยุคโบราณกาล คำว่า “ชง” หรือ “ปะทะชน” หมายถึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เป็นพลังบางอย่างที่มองไม่เห็นกระแทกใส่ดวงชะตา จะส่งผลให้เกณฑ์ดวงชะตาตกต่ำในทุกด้าน ชาวจีนจึงเชื่อว่าผู้ที่เผชิญกับเรื่องปีชงจะมีสิ่งร้ายๆ เข้ามาในชีวิต

อย่างไรก็ดี เพราะตำราส่วนใหญ่มักเรียกขานรวมๆว่า “ปีชง” ทำให้คนทั่วไปคิดว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับปีเกิดเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว ปีชงยังรวมถึงเวลาชง, วันชง และเดือนชง ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีระบบซับซ้อน โดยคำนวณจากหลักการธาตุทั้ง 5 ตามลัทธิเต๋า ผสมผสานกับวันเดือนปีเกิดและเวลาตกฟากของแต่ละคนตามปฏิทินจีนโบราณ ทำให้ได้ผลลัพธ์ว่าดวงชะตาของเราขัดแย้งหรือส่งเสริมกับเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตาในแต่ละปี

...

เทพเจ้าที่เป็นต้นตำรับความเชื่อเรื่องปีชงคือ “ไท้ส่วยเอี้ย” เป็นเทพเจ้าที่มีความผูกพันกับดวงดาวและดวงชะตาของมนุษย์มากที่สุด ซึ่งชาวจีนเคารพนับถือมายาวนานกว่า 3,000 ปี โดยมีความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีน เพราะเชื่อกันว่าในแต่ละปีเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยจะสลับกันลงมาปีละองค์ โดยมีทั้งหมด 60 องค์ หรือ 5 รอบปีนักษัตร ตามจำนวนปีนักษัตรกับธาตุทั้ง 5 เพื่อคุ้มครองดวงชะตาของมนุษย์ให้แคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากภัยอันตราย หากใครที่ดวงชะตาอยู่ห่างไกลจากการคุ้มครองของเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยในปีนั้นๆ ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม

ทำไมเรื่องปีชงจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะแต่ในหมู่ลูกหลานชาวจีน เพราะมีการเผยแพร่แนวคิดมาอย่างต่อเนื่องว่าเมื่อเกิดการชง หรือปะทะชนกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย ผู้คอยคุ้มครอง ดวงชะตาในแต่ละปี จะฉุดให้ดวงชะตาของคนที่ชงตกต่ำลง และเพื่อเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา ส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น จึงต้องมีการไหว้แก้ชงกับวัดดังต่างๆ

เดิมพิธีกรรมปีชงตามแนวความเชื่อของชาวจีนแท้ๆสามารถส่งผลได้ทั้งแง่บวกและลบคือนำสิ่งเลวร้ายออกไปและเสริมสิริมงคลเข้ามาในชีวิต แต่เมื่อความเชื่อเรื่องปีชงแพร่หลายไปยังผู้ที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีน กลับมุ่งเน้นไปที่ความหมายด้านลบของการแก้ชง ทั้งๆที่คนดวงดีไม่ชงก็สามารถไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยเพื่อส่งเสริมดวงชะตาให้ดียิ่งขึ้นทวีคูณ

ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปิศาจ สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ อยู่คู่กับสังคมจีนโบราณมายาวนาน และซึมลึกในวิถีชีวิตของผู้คน จนกลายเป็นหนึ่งในประเพณีวัฒนธรรมหลักของโลกที่ลูกหลานชาวจีนช่วยกันสืบทอดต่อๆกันมา ยิ่งเมื่อมาหลอมรวมกับวัฒนธรรมไทยด้วยแล้ว ชุดความคิดเรื่องปีชงที่หลั่งไหลเข้ามาตามการอพยพของชาวจีนยิ่งทวีความเข้มข้นมาหมดทั้งชุดไหว้, วัตถุมงคล, ยันต์ และเครื่องรางจีน แถมยังแยกย่อยลงไปอีกว่าชงเต็ม 100%, 75%, 50% หรือ 25%

แก่นแท้ของ “การแก้ชง” อาจเป็นเพียงกุศโลบายจากบรรพบุรุษที่อยากเตือนลูกหลานให้มีสติและระมัดระวังในการใช้ชีวิต หาใช่สนับสนุนให้เกิดความงมงายอย่างไร้สติ.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม