- ดินแดนที่เคยได้ชื่อว่าสงบสุขในอเมริกาใต้อย่างเอกวาดอร์ กำลังดำดิ่งสู่ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดการแหกคุกของหัวหน้าแก๊งคนสำคัญ ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบไปทั่วประเทศ
- ประธานาธิบดีคนใหม่ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือความไม่สงบในประเทศ แต่กลับได้รับการต้อนรับด้วยความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรรมที่ทรงอำนาจในเอกวาดอร์
- เมื่อวันอังคารถึงขั้นเกิดเหตุกลุ่มมือปืนบุกรุกสถานีโทรทัศน์อย่างอุกอาจ คนร้ายพยายามให้ผู้ประกาศข่าวอ่านแถลงการณ์ของพวกเขา ก่อนจะถูกทหารเข้าจับกุมตัว
ประธานาธิบดี ดาเนียล โนบัว แห่งเอกวาดอร์ ออกคำสั่งให้กองทัพเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูความสงบในประเทศ หลังเกิดเหตุความไม่สงบต่อเนื่องหลายวัน ตั้งแต่การแหกคุกของหนึ่งในหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ เกิดจลาตลในเรือนจำ ผู้คุมถูกจับเป็นตัวประกัน และเกิดระเบิดอีกหลายจุดในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศ คือเหตุกลุ่มมือปืนพร้อมระเบิดบุกสถานีโทรทัศน์ TC Television ในเมืองกัวยากิล เมืองใหญ่สุดของเอกวาดอร์ เข้าไปในห้องส่งขณะกำลังมีการถ่ายทอดสด และพยายามใช้ปืนบังคับให้หนึ่งในผู้ประกาศข่าว อ่านข้อความของพวกเขา
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว มือปืนกลุ่มนี้จะถูกทหารสยบและถูกจับกุมตัวอย่างรวดเร็ว แต่ภาพกลุ่มมือปืนสวมหน้ากาก โดยมีเจ้าหน้าที่ของ TC นั่งคุยคู้อยู่กับพื้น ก็ได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวเอกวาดอร์ไปแล้ว และแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนที่สงบสุขแห่งนี้ กำลังตกลงสู่ห้วงแห่งความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
จากแดนสันติ ตกสู่ห้วงความรุนแรง
เอกวาดอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะกาลาปากอส และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เศรษฐกิจเป็นมิตรกับเงินดอลลาร์ ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า ‘เกาะแห่งสันติ’ แม้จะอยู่ระหว่างประเทศผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง เปรูและโคลอมเบีย
แต่ท่าเรือน้ำลึกของพวกเขากลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญสำหรับการขันส่งโคเคนไปยังสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ในยุโรป และเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับเงินดอลลาร์ก็กลายเป็นแหล่งให้ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน
กลุ่มแก๊งอาชญากรรมในเอกวาดอร์เริ่มทำงานร่วมกับแก๊งค้ายาเสพติดต่างชาติ ทั้งจากเม็กซิโก และบราซิล หรือกระทั่งกลุ่มมาเฟียในแอลเบเนีย ความเป็นอรันของแก๊งเหล่านี้ทำให้เกิดการต่อสู้ตามท้องถนนและภายในเรือนประเทศ เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ และควบคุมเส้นทางขนส่งยาเสพติด
ระบบทัณฑสถานเป็นเวทีความรุนแรงในเอกวาดอร์มานานแล้ว เนื่องจากเรือนจำจำนวนมากถูกปกครองโดยสมาชิกแก๊งอาชญากรรมที่กลายเป็นผู้ต้องขัง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จัดตั้งเป็นเครือข่ายอาชญากรรมหลังห้องลูกกรง ลักลอบขนส่งอาหาร และเหล้ายาเข้าสู่เรือนจำโดยที่ทางการไม่สามารถจัดการได้
นอกจากกองกำลังความมั่นคงเอกวาดอร์จะไม่มีความพร้อมในการรับมือการขึ้นมามีอำนาจของแก๊งอาชญากรรมในประเทศแล้ว พวกเขายังขาดทั้งอุปกรณ์, การฝึกฝน และแผนการที่ดี แม้แต่ระบบยุติธรรมยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน จนสหรัฐฯ เคยถอนวีซ่าเจ้าหน้าที่ระบบสูงของเอกวาดอร์หลายคน ฐานเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดมาแล้ว
อดีตประธานาธิดบี กีเยอร์โม ลาสโซ พยายามใช้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศที่เลวร้ายลง แต่แทบไม่เป็นผล อาชญากรรมที่สูงขึ้น ฉุดคะแนนนิยมของเขา จนลาสโซต้องประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเม่อ 20 ส.ค. 2566
แต่ไม่วาย ความรุนแรงยังตามมาถึงการเลือกตั้ง เกิดการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นหลายราย รวมถึงนาย เฟร์นานโด บียาบิเซนซิโอ ตัวเก็งที่ว่าจะกันว่าจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แสดงให้เห็นว่า แก๊งอาชญากรรมพยายามใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมนโยบายของผู้สมัครเลือกตั้ง
สุดท้ายนาย ดาเนียล โนบัว ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรอบ 2 และให้คำมั่นว่า จะแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และตอนนี้คำสัญญาของเขากำลังถูกทดสอบแล้ว
...
หัวหน้าแก๊งแหกคุก จุดเริ่มความรุนแรง
เหตุความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นในเอกวาดอร์ มีชนวนจากเหตุการณ์ในวันที่ 7 ม.ค. 2567 เมื่อตำรวจเดินทางไปยังเรือนจำ ‘ลา รีเจียนัล’ (La Regional) ในเมืองท่ากัวยากิล ที่นาย อะดอลโฟ มาซิอัส บียาร์มา หรือ ‘ฟิโต’ หัวหน้าของ ‘ลอส โคเนรอส’ (Los Choneros) หนึ่งในแก๊งค้ายาเสพติดที่น่ากลัวที่สุดในเอกวาดอร์ ถูกคุมขังอยู่
เจ้าหน้าที่ไปเพื่อย้ายตัวฟิโตไปยังเรือนจำ ‘ลา โรคา’ (La Roca) ซึ่งเป็นเรือนจำขนาดเล็กกว่าที่อยู่ภายในเขตทัณฑสถานเดียวกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วว่าที่นี่รักษาความปลอดภัยง่ายกว่า เนื่องจากมีนักโทษน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจไปถึงห้องขังของฟิโต กลับพบว่ามันว่างเปล่า
โฆษกรัฐบาลระบุในเวลาต่อมาว่า ฟิโตได้ข่าวเรื่องการย้ายตัวเขาตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสแล้ว และตัดสินใจหลบหนีก่อนจะถูกย้าย โดยไม่ทราบแน่ชัดว่า เขาหนีไปเมื่อไรและอย่างไร แต่มีผู้คุมเรือนจำ 2 คนถูกจับกุมและตั้งข้อหาฐานช่วยเหลือเขาหลบหนี
ฟิโต ผู้ถูกตัดสินจำคุก 34 ปี เคยยื่นคำขาดมาแล้วในปี 2564 ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น ว่าความพยายามใดๆ ในการย้ายตัวเขาหรือแกนนำแก๊งคนอื่นๆ ไปยัง ลา โรคา จะทำให้เกิดฉากการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้เกิดการจลาจลในเรือนจำทุกแห่ง
แก๊งคุมคุก จลาจลเรือนจำ
ข่าวการแหกคุกของฟิโตกลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในเรือนจำอย่างน้อย 6 แห่งทั่วเอกวาดอร์ในวันเดียวกันนี้ และมีผู้คุมหลายคนถูกจับเป็นตัวประกัน
อย่างที่ระบุไปข้างต้น เรือนจำต่างๆ ในเอกวาดอร์ถูกควบคุมโดยสมาชิกแก๊งอาชญากรรม และไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียว ภายในมีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างระมัดระวัง และความเปลี่ยนแปลงระหว่างแก๊งเพียงเล็กน้อย หรือการต่อสู้กันเองภายในแก๊ง ก็สามารถทำให้สมดุลให้ห้องขังที่มีนักโทษจำนวนมากเกินความจุนี้ พังทลายและกลายเป็นความรุนแรง
เรื่องดังกล่าวมีตัวอย่างให้เป็นมาแล้วหลายครั้ง เช่นในปี 2563 เกิดการลอบสังหารนาย ฆอร์เก ลูอิส ซัมบราโน อดีตหัวหน้าแก๊ง ลอส โคเนรอส ทำให้แก๊งแตกออกเป็น 2 กลุ่ม และฝ่ายที่แยกออกมาก็ใช้เวลาไม่นานในการกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับอดีตพวกพ้อง
เมื่อ 21 ก.พ. 2564 เกิดการต่อสู้ระหว่างแก๊งคู่อริในเรือนจำ 4 แห่ง ทำให้มีนักโทษเสียชีวิตถึง 79 ศพ และหลังจากนั้นในปีเดียวกันก็เกิดการจลาจลขึ้นที่เรือนจำ ‘ลิโตรัล’ (Litoral) ภายในเขตทัณฑสถานเดียวกันกับเรือนจำที่ฟิโตถูกคุมขังอยู่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 123 ศพ
ผู้นำประกาศภาวะฉุกเฉิน
การหลบหนีของฟิโต ทำให้นายโนบัวประกาศใช้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน ในวันจันทร์ที่ 8 ม.ค. และใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านหลังเวลา 23.00 น. ถึง 5.00 น. ของทุกวัน
ภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน โนบัวเคลื่อนกำลังทหารและตำรวจมากกว่า 3,000 นายไปยังเรือนจำต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ และส่งไปทั่วประเทศเพื่อค้นหาตัวฟิโต ตำรวจยังมีอำนาจสามารถเรียกค้นตัวประชาชนตามท้องถนน หรือบุกตรวจค้นภายในห้องที่ต้องสงสัยว่ามีอาวุธหรือระเบิดได้ทันที
อย่างไรก็ตามคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้เกิดการตอบโต้จากกลุ่มแก๊งต่างๆ ในทันที ตำรวจนายหนึ่งถูกลักพาตัวไปขณะปฏิบัติหน้าที่และถูกบังคับให้อ่านแถลงการณ์ซึ่งเผยแพร่ออกมาผ่านวิดีโอเทป เตือนประธานาธิบดีว่า “คุณประกาศสงคราม คุณก็จะได้สงคราม”
“คุณประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เราก็ขอประกาศว่า ตำรวจ, พลเรือน และทหาร จะกลายเป็นสินสงคราม”
แก๊งอาชญากรรมก่อเหตุโจมตีหลายระลอกเพื่อแสดงพลัง ทำลายขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ พวกเขาสังหารคนอย่างน้อย 8 ศพในเมืองกัวยากิล และลักพาตัวตำรวจขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ไปถึง 7 นาย
มือปืนบุกสตูดิโอทีวี
ต่อมาในวันอังคาร เกิดเหตุกลุ่มมือปืนพร้อมระเบิดบุกสถานีโทรทัศน์ TC Television ในเมืองกัวยากิล เข้าไปในห้องส่งขณะกำลังมีการถ่ายทอดสด พวกเขาใช้ปืนบังคับพนักงานนอกกับพื้น และขู่ให้ผู้ประกาศข่าวคนหนึ่ง อ่านข้อความของพวกเขาก่อนที่การถ่ายทอดสดจะถูกตัดไป
เหตุการณ์นี้จบลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 13 รายเอาไว้ได้โดยไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
แต่ประธานาธิบดีโนบัวตัดสินใจยกระดับการรับมือความไม่สงบขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการประกาศภาวะ “การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ” (armed internal conflict) สั่งให้กองทัพสยบแก๊งที่อยู่เบื้องหลังเหตุความรุนแรง เผยแพร่รายชื่อแก๊งอาชญากรรม 22 กลุ่ม รวมถึงแก๊ง ลอส โคเนรอส และประกาศให้เป็นองค์กรก่อการร้าย
รัฐบาลของนายโนบัว ซึ่งเพิ่งทำหน้าที่มาได้เพียง 2 เดือน จะจัดการกับเหตุความรุนแรงในเรือนจำที่ทะลักออกมาสู้ท้องถนนในเมืองหลักของประเทศอย่างไร คือบททดสอบสำคัญของประธานาธิบดีวัยเพียง 36 ปีผู้นี้
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : bbc , cnn , reuters
...