ผู้อพยพหลายพันคนออกเดินเท้าจากทางใต้ของเม็กซิโก โดยมีจุดหมายเป็นชายแดนสหรัฐฯ
คาดว่าผู้คนประมาณ 7,000 คน ส่วนใหญ่มาจากอเมริกาใต้และอเมริกากลาง รวมถึงเด็กหลายพันคน ได้ร่วมในขบวนผู้อพยพครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดหารือเกี่ยวกับวิธีควบคุมการอพยพจำนวนมากกับประธานาธิบดีเม็กซิโก โดยล่าสุดมีการปิดจุดผ่านแดนหลายแห่งเนื่องจากมีผู้อพยพเพิ่มขึ้น
จอห์น เคอร์บี โฆษกความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติเม็กซิโก กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของผู้อพยพที่ข้ามพรมแดน
ตามข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ จำนวนผู้ถูกจับกุมที่ชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ เกิน 2 ล้านคนทั้งในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 เฉพาะในเดือนกันยายนปี 2023 เพียงเดือนเดียว หน่วยตระเวนชายแดนสหรัฐฯ สามารถจับกุมผู้อพยพมากกว่า 200,000 คน ที่กำลังข้ามชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกอย่างผิดกฎหมาย
ขณะที่ขบวนผู้อพยพล่าสุดเดินทางออกจากเมืองทาปาชูลาทางตอนใต้ของเม็กซิโก ใกล้ชายแดนทางใต้ของประเทศติดกับกัวเตมาลา ในช่วงวันคริสต์มาสอีฟ โดยมีผู้นำขบวนถือไม้กางเขน ธงชาติเม็กซิโก พร้อมกับป้ายข้อความว่า “อพยพหนีภัยยากจน”
สื่อท้องถิ่นกล่าวว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากคิวบา เฮติ และฮอนดูรัส แต่บางส่วนมาจากประเทศที่ห่างไกลอย่างบังกลาเทศและอินเดีย หลายคนกล่าวว่า พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมขวน หลังจากรอเอกสารอนุญาตเดินทางมาหลายเดือน
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้อพยพ หลุยส์ การ์เซีย วิลลากราน ซึ่งร่วมเดินทางด้วย กล่าวว่า การเข้าร่วมขบวนเดินเท้ามุ่งหน้าทางเหนือเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้อพยพจำนวนมากที่ติดอยู่ในเมืองทาปาชูลา "ปัญหาคือชายแดนทางใต้ที่ติดกับกัวเตมาลาเปิดอยู่ และมีผู้คนสัญจรไปมาประมาณ 800 ถึง 1,000 คนทุกวัน ถ้าเราไม่ออกจากทาปาชูลา เมืองก็จะพังทลาย"
...
ผู้อพยพเดินทางเป็นระยะทางประมาณ 15 กม. ในเช้าวันแรก หลังจากออกเดินทางในช่วงรุ่งสางของวันที่ 24 ธันวาคม
ผู้อพยพชาวฮอนดูรัสรายหนึ่งกล่าวว่า เขาได้ออกจากประเทศบ้านเกิดเพื่อหลบหนีแก๊งอาชญากรที่ขู่จะฆ่าเขา "ผมกลัวจึงตัดสินใจมาเม็กซิโก โดยหวังว่าจะได้รับอนุญาตให้ไปอเมริกา"
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ กล่าวว่า เขายินดีที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับปัญหานี้ และมีกำหนดเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันพุธ การหารือครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จำนวนผู้อพยพพุ่งสูงขึ้น กลายเป็นหัวข้อทางการเมืองที่ร้อนแรงในสหรัฐฯ โดยมีแรงกดดันต่อประธานาธิบดีไบเดน เพื่อให้หยุดยั้งการหลั่งไหลข้ามพรมแดนของผู้อพยพ.
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign