แองโกลาตัดสินใจจะถอนตัวออกจากกลุ่มโอเปก หลังโอเปกตัดสินใจจะลดกำลังผลิตน้ำมันลงไปอีกในปีหน้า เพื่อสนับสนุนตลาดน้ำมัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธ.ค. 2566 ประเทศแองโกลา ประกาศจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก ‘องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก’ หรือ ‘โอเปก’ หลังจากเมื่อเดือนก่อน โอเปกตัดสินใจจะลดกำลังผลิตน้ำมันลงไปอีกในปี 2567 เพื่อพยุงราคาน้ำมันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แองโกลาประมาณการตัดสินใจถอนตัวจากโอเปกที่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดี โดยนายเดียมันติโน อาเซเวโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและทรัพยากรแร่ธาตุ กล่าวหลังจากนั้นว่า “ณ ตอนนี้เรารู้สึกว่า แองโกลาไม่ได้อะไรจากการอยู่ในองค์กรนี้ต่อไป และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แองโกลาจึงตัดสินใจที่จะถอนตัวออกมา”

“หากเราอยู่ในโอเปกต่อไป ... แองโกลาอาจถูกบีบให้ต้องตัดลดกำลังผลิตน้ำมันลงไปอีก และนั่นขัดแย้งกับนโยบายของเราที่จะหลีกเลี่ยงการลดกำลังผลิต และเคารพในสัญญาซื้อขาย” นายอาเซเวโดกล่าว

ทั้งนี้ หลังการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาน้ำมันโลกก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทะลุ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น

แต่ราคาน้ำมันลดกลับลงมาจนอยู่ที่ราว 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนพฤษภาคมปี 2566 ก่อนจะเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากประเทศผู้ผลิตพยายามจำกัดปริมาณการผลิต เพื่อสนับสนุนตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะหลังจากเกิดการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง

อนึ่ง แองโกลาเป็น 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ร่วมกับไนจีเรีย โดยปัจจุบัน กำลังผลิตน้ำมันของพวกเขาอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากทั้งหมด 30 ล้านบาร์เรลที่ชาติโอเปกผลิต ซึ่งการประกาศถอนตัวของแองโกลาทำให้ราคาน้ำมันลดลงทันทีกว่า 1 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 78.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 12.50 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช

...

อย่างไรก็ตาม แองโกลา ผู้เป็นสมาชิกโอเปกมานาน 16 ปี ไม่ใช่ประเทศแรกที่ถอนตัวจากองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกแห่งนี้ โดยเอกวาดอร์, อินโดนีเซีย และกาตาร์ ก็เคยทำมาแล้ว

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc