นาซา เผยผลศึกษาพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จำนวน 17 ดวง อาจมีมหาสมุทรที่มีน้ำในรูปแบบของเหลว อยู่ใต้ชั้นเปลือกน้ำแข็ง

เมื่อ 17 ธันวาคม 2566 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ผลการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของนาซา (NASA) พบว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จำนวน 17 ดวง อาจมีมหาสมุทรที่มีน้ำในรูปแบบของเหลว ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต อยู่ใต้ชั้นเปลือกน้ำแข็ง

นาซา ระบุว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เป็นโลกที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา น้ำจากมหาสมุทรเหล่านี้อาจปะทุผ่านชั้นเปลือกน้ำแข็งในรูปแบบไกเซอร์ (geysers) หรือปรากฏการณ์น้ำพุร้อนทางธรรมชาติเป็นครั้งคราว

ทีมวิทยาศาสตร์ได้คำนวณปริมาณกิจกรรมของน้ำพุร้อนไกเซอร์บนดาวเคราะห์ดังกล่าวเป็นครั้งแรก พร้อมระบุดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสองดวงที่อยู่ใกล้เคียงมากพอในระดับที่ทำให้สามารถสังเกตสัญญาณการปะทุเหล่านี้ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์

ลินเนย์ ควิก ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซาในเมืองกรีนเบลท์ รัฐแมริแลนด์ เผยว่า การวิเคราะห์ของเราคาดว่าโลกทั้ง 17 ใบนี้อาจมีพื้นผิวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง แต่ได้รับความร้อนภายในเพียงพอจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตภาพรังสี และแรงไทดัล (tidal force) ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงจากดาวฤกษ์แม่ เพื่อรักษามหาสมุทรภายในไว้

ลินเนย์ ควิก เสริมว่า ดาวเคราะห์ทุกดวงในการศึกษาของเราอาจยังแสดงการปะทุของภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcanic) ในรูปแบบของกลุ่มควันคล้ายน้ำพุร้อนไกเซอร์ เนื่องมาจากปริมาณความร้อนภายในที่พวกมันสัมผัส.

ขอบคุณข้อมูล-รูป : Xinhua