เกิดความกังวล ปลาหลายพันตันตายปริศนา เกลื่อนชายหาดที่เกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่น เพียง 3 เดือนหลังจากปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ขณะที่ทางการญี่ปุ่นยังไม่ออกมาอธิบายสาเหตุที่ทำให้ปลาตายมหาศาล

เมื่อ 11 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กรณีมีปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลจำนวนมากถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดที่เกาะฮอกไกโด ทางภาคเหนือสุดของญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันก่อน จนสร้างความตื่นตะลึงว่ากำลังก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลใจตามมา เนื่องจากปรากฏการณ์ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลตายเกลื่อนชายหาดมากมายมหาศาลขนาดนี้และยังไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเพียงแค่ราว 3 เดือน หลังจากทางการญี่ปุ่นตัดสินใจให้ปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ลงสู่ทางทะเลและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ประชาชนเกิดความกังวลใจ เพราะมีปลาซาร์ดีนจำนวนมากและบางส่วนเป็นปลาแมคเคอเรล คาดว่ามีน้ำหนักรวมหลายพันตัน ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนลอยเป็น 'แพสีเงิน' เหนือผิวน้ำทะเลริมชายหาด เป็นระยะทางยาวถึงเกือบ 1 ไมล์ (1.6 กม.) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนในพื้นที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ด้านเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยังไม่ได้ออกมาอธิบายปรากฏการณ์ปลาซาร์ดีนตายจำนวนมหาศาลจนถูกซัดเกยชายหาดที่เกาะฮอกไกโดในครั้งนี้แต่อย่างใด ทว่าทางนักวิจัยที่สถาบันประมงเมืองฮาโกะดาเตะ ได้แสดงความเห็นว่า อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปลาเหล่านี้หมดแรงเพราะขาดออกซิเจน ขณะฝูงปลาจำนวนมากกำลังว่ายอยู่ในบริเวณน้ำตื้น หรือปลาอาจจะว่ายมายังเขตน้ำเย็นอย่างกะทันหันระหว่างการอพยพ และเกิดอาการช็อก

ขณะที่เทศบาลเมืองกำลังเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นแล้ว เพื่อระบุว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตายจำนวนมาก โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับฤดูกาลที่ปลาซาร์ดีนจะอพยพจากฮอกไกโดลงไปทางใต้พอดี

...

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาวประมงในญี่ปุ่นและชาติเพื่อนบ้าน ทั้งจีนและเกาหลีใต้ ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อระบบนิเวศ จนเป็นเหตุให้ทางการจีนสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่นและวิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่นว่ากำลังเห็นแก่ตัว และขาดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง ที่ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิเมื่อปี 2554 ลงสู่ทะเล ถึงแม้ญี่ปุ่นจะอ้างว่าน้ำเสียเหล่านี้ผ่านการบำบัดกัมมันตรังสีจนอยู่ในระดับปลอดภัยแล้วก็ตาม

ที่มา : Dailymail