มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Laos) เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย เป็นผู้ปาฐกถาหลักในงานสัมมนาวิชาการลาว-ไทย ครั้งที่ 2 หัวข้อ ‘การเติบโตด้านธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเกษตรของไทย’ รับใช้ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตปริญญาโทและเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต มหาวิทยาลัยจำปาสัก และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ของไทย เวลา 10.00-11.30 น. วันพุธพรุ่งนี้ 6 ธันวาคม 2023 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กรุงเวียงจันทน์

ขอเขียนถึงเฮนรี อัลเฟรด คิสซิงเจอร์ ต่ออีกวัน เพื่อแสดงความอาลัยต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่านผู้นี้ หากไม่มีท่าน โลกอาจจะวุ่นวายกว่านี้เยอะ สงครามเวียดนามอาจจะคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราก็จะรบกันอีกนาน

คิสซิงเจอร์พาประธานาธิบดีนิกสันไปจีนระหว่าง 21-28 กุมภาพันธ์ 1972 เดือนถัดมา 22-30 มีนาคม 1972 คิสซิงเจอร์ก็พานิกสันบินไปกรุงมอสโก พบกับเบรจเนฟ มีการเจรจาและลงนามการจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 1 หรือ SALT1

คิสซิงเจอร์เป็นตัวแทนสหรัฐฯเจรจากับเล ดึ๊ก โท ประธานกรรมาธิการองค์กรกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจนมีการลงนามในข้อตกลงสนธิสัญญาปารีส ค.ศ.1973 ทำให้สงครามเวียดนามจบ ทั้งคิสซิงเจอร์และเล ดึ๊ก โท รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ค.ศ.1973 ร่วมกัน

นักการเมืองสหรัฐฯคนอื่นสร้างแต่สงคราม มีเพียงคิสซิงเจอร์ ที่ตระเวนเจรจาระงับข้อพิพาทและสร้างสันติภาพทั้งในยุโรป เอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา ผู้อ่านท่านยังจำสงครามยมคิปปูร์ หรือสงครามยิว-อาหรับ ครั้งที่ 4 ค.ศ.1973 ได้ไหมครับ สงครามสงบจบลงเพราะคิสซิงเจอร์ไปเจรจากับอียิปต์จนสามารถลงนามใน Sinai Accord หรือข้อตกลงไซนาย เมื่อ ค.ศ.1975 ข้อตกลงนี้ทำให้กลุ่มประเทศอาหรับไม่สามารถรวมตัวกันก่อสงครามขนาดใหญ่กับอิสราเอลได้อีก และช่วยป้องกันไม่ให้โซเวียตขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางโดยผ่านอียิปต์ได้ด้วย

...

คิสซิงเจอร์ออกแบบ Shuttle Diplomacy หรือการทูตแบบวิ่งรอก ทำให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยได้ทุกแห่ง ท่านหว่านล้อมสหรัฐฯ แคนาดา โซเวียต ประเทศในยุโรปตะวันตกและตะวันออกให้ร่วมลงนาม Helsinki Accord of 1975 หรือข้อตกลงเฮลซิงกิ ทำให้เกิดความปลอดภัยและความร่วมมือในยุโรปตะวันออกและตะวันตก เป็นการคลายความตึงเครียดของสงครามเย็นในยุโรป

ฟอร์ดลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ.1977 คิสซิงเจอร์ก็กลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ค.ศ.1982 ก็ตั้งบริษัท ที่ปรึกษาระหว่างประเทศชื่อคิสซิงเจอร์แอสโซซิเอตส์ ให้บริการปรึกษาทั้งด้านธุรกิจและการลงทุน คิสซิงเจอร์มีอิทธิพลต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯทุกสมัยและเป็นกรรมการยุทธศาสตร์บูรณาการระยะยาวของสภาความมั่นคงแห่งชาติกับกระทรวงกลาโหมมาอย่างยาวนาน

คนไทยเคยชอบอเมริกันและเกลียดสหภาพโซเวียต กระทั่งมีคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งผู้เขียนสมัยนั้นมีภูมิหลังเคยอยู่ในแผ่นดินโซเวียตในช่วงที่โซเวียตล่มสลายใหม่ๆ ทำให้คนไทยใน ค.ศ.1997 นับล้านคนเข้าใจโซเวียตและรัสเซียมากขึ้น จำนวนไม่น้อยตำหนินโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีกระแสเกลียดกลัวสหรัฐฯเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศไทย

ผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลกในสมัยนั้นได้รับชวนให้ไปพบและสนทนากับคิสซิงเจอร์หลังจากได้พบกับคิสซิงเจอร์ ผู้เขียนก็ได้รับเชิญไปฮาวาย กลับมาจากฮาวายแล้ว ลูกชายคนโตก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รัฐฮาวายอยู่นานเกือบ 6 ปี ปัจจุบัน เด็กชายคนนั้นเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม

สมเด็จฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาที่สนิทกับเวียดนาม และโซเวียต ลูกชายคนโตของสมเด็จฮุนเซนก็ได้รับทุนไปเรียนที่วิทยาลัยนายร้อยทหารบกแห่งสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน เด็กชายคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

จะหาใครที่บริหารจัดการความขัดแย้งได้ดีเท่าคิสซิงเจอรไม่มี อีกแล้ว ช่วงเวลา 100 ปีที่คิสซิงเจอร์อยู่บนโลก การเจรจาของท่านช่วยชีวิตมนุษย์นับพันล้านคน.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม