พุธ 29 พฤศจิกายน 2023 นายไฮนทซ์ อัลเฟรท คิสซิงเจอร์ ที่เรารู้จักกันในนามนายอัลเฟรท เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ที่บ้านพักในคอนเนตทิคัต สหรัฐฯ สิริอายุ 100 ปี

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย เขียนเปิดฟ้าส่องโลกใหม่ๆ ได้มีโอกาสพบและสนทนากับนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ มีความประทับใจในความเก๋าเกมการเมืองระหว่างประเทศของคิสซิงเจอร์ เป็นเวลากว่า 26 ปีที่เปิดฟ้าส่องโลกเขียนถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐผู้นี้เป็นระยะ ในวาระที่ท่านเสียชีวิต เปิดฟ้าส่องโลกจึงขออนุญาตนำเรื่องราวของท่านมารับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอีกครั้ง

คิสซิงเจอร์เกิดเมื่อ ค.ศ.1923 ที่เมืองเฟือร์ท แคว้นบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดิมชื่อ ไฮนซ์ อัลเฟรด คิสซิงเจอร์ เมื่ออายุ 15 ปี พวกนาซีต่อต้านชาวยิวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวจึงอพยพมาอยู่สหรัฐ ถึงสหรัฐฯใหม่ๆ หนุ่มน้อยคิสซิงเจอร์ต้องทำงานไปเรียนชั้นมัธยมปลายไป ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยตัดสินใจรับการเกณฑ์ทหารร่วมรบกับกองทัพสหรัฐในยุโรป โดยมีหน้าที่หลักในหน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง คิสซิงเจอร์เข้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จบปริญญาตรีเมื่อ ค.ศ.1950 ด้วยคะแนนสูงสุด สารนิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ที่เขียนสำหรับนำเสนอเพื่อให้สำเร็จการศึกษาความยาว 383 หน้า ได้กลายเป็นตำนานของมหาวิทยาลัย คิสซิงเจอร์จบปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด เมื่อ ค.ศ.1954 หลังจากนั้น ก็ทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

คิสซิงเจอร์เขียนบทความไว้หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นบทความแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐฯดำเนินนโยบายแบบยืดหยุ่น เริ่มมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯตั้งแต่ ค.ศ.1961 ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีเคนเนดีและประธานาธิบดีจอห์นสัน

...

ค.ศ.1969 คิสซิงเจอร์ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีนิกสันและประธานาธิบดีฟอร์ด นอกจากนั้นยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ของสหรัฐฯระหว่าง ค.ศ.1973-1977 เป็นคนที่กำหนดบทบาทและทิศทางของสหรัฐฯในการเมืองระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็น เป็นผู้ก่อให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดในสงครามเย็น มีส่วนยุติบทบาทของสหรัฐฯในสงครามเวียดนามและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ

ประธานาธิบดีนิกสันเชื่อว่าแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐฯยิ่งใหญ่แบบไม่มีขีดจำกัด สามารถปิดล้อมพวกคอมมิวนิสต์ได้ตลอดไป คิสซิงเจอร์เป็นคนที่กระตุกไม่ให้ประธานาธิบดีนิกสันคิดและเชื่ออย่างนั้น ท่านบอกว่าแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐฯมีขีดจำกัด และไม่สามารถปิดล้อมสหภาพโซเวียตได้ตลอดไป จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายความตึงเครียดที่โลกและสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่

การผ่อนคลายความตึงเครียดที่คิสซิงเจอร์คิดขึ้นมานั้นต้องได้รับความร่วมมือจากอำนาจอื่นทั้งจีนและสหภาพโซเวียต ซึ่งตอนนั้น 2 ประเทศนี้มีข้อพิพาทกันตามพรมแดน คิสซิงเจอร์จึงเดินทางไปเยือนจีนใน ค.ศ.1971 เพื่อเจรจาต่อรองและหารือกับนายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อบรรลุข้อตกลงแล้ว ท่านจึงเชิญประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีน ใน ค.ศ.1972 และลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่เราเรียกว่าแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ 28 กุมภาพันธ์ 1972

ข้อใหญ่ใจความในแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ก็คือ สหรัฐฯยอมรับนโยบายจีนเดียว ซึ่งเท่ากับยอมรับอำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ‘ครั้งแรก’ แถลงการณ์นี้เหมือนกับสหรัฐฯยอมรับว่า สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และจะยินยอมถอนกองกำลังทหารอเมริกัน และอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนออกจากไต้หวัน

หลังจากลงนามร่วมกับสหรัฐฯแล้ว จีนก็ประกาศจะลดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ที่มีจุดกำเนิดจากเนื้อสมองของคิสซิงเจอร์ ทำให้สหรัฐฯและจีนลดการเผชิญหน้า ซึ่งการเผชิญหน้านี้สร้างความตึงเครียดให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนานกว่า 20 ปี แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้นี่ละครับ ช่วยให้สหรัฐฯถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามได้อย่างไม่หน้าแหก โดยอ้างความต้องการของชาวอเมริกันและชาวโลก

แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้นี่แหละครับ ที่ช่วยให้สหรัฐฯและจีนสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติเมื่อ ค.ศ.1979.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม