1 เดือนที่ผ่านมา ผมไปมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์และวิทยาลัยกสิกรรมภาคเหนือ ในแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว+ตระเวนนั่งรถไปจังหวัดอุดรมีชัย เสียมราฐ พระวิหาร กัมปงธม กัมปงจาม กัมปงสปือ และกรุงพนมเปญของกัมพูชา สัมผัสทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ และชาวบ้าน พบความเปลี่ยนแปลงของทัศนคติใน ค.ศ.2023 ที่ต่างจากทัศนคติของคนทั้ง 2 ประเทศ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
2 ทศวรรษก่อน ร้านรวงแต่ละแห่งยังมีป้ายตัวอักษรท้องถิ่นร่วมกับภาษาอังกฤษ แต่ใน ค.ศ.2023 แทบไม่มีภาษาอังกฤษให้เห็น มีแต่ภาษาท้องถิ่นกับตัวอักษรภาษาจีน สมัยก่อนตอนโน้น อะไรก็ฝรั่ง ทว่าปัจจุบัน ผู้คนได้รับอิทธิพลจากจีนมากกว่า
ก่อนตุลาคม ค.ศ.1971 จีนยังเป็นสาธารณรัฐประชาชนหงอยๆ ดิ้นรนจนได้รับการรับรองสมาชิกภาพในสหประชาชาติแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เติ้งเสี่ยวผิงพูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนใน ค.ศ.1978 พวกฝรั่งมังค่าต่างหัวเราะกันจนฟันกระเด็นออกมานอกปาก อีก 2 ปีต่อมา จีนนำระบบ เศรษฐกิจ การตลาดมาใช้ด้วยการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในเซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และซ่านโถว ใน ค.ศ.1980 ปีต่อมา ก็เปิดเพิ่มเติม ที่ไห่หนาน ต่อมา ค.ศ.1990 คอมมิวนิสต์จีนเปิดตลาดหลักทรัพย์ที่เซี่ยงไฮ้ และ ค.ศ.1991 ก็ตั้งตลาดหลักทรัพย์ที่เมืองเซินเจิ้น
จุดเปลี่ยนแรกของจีนคือการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (แทนไต้หวัน) จุดเปลี่ยนที่สองคือการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อ ค.ศ.2001 (หลังจากที่ถูกตะวันตกเตะตัดขาและถ่วงอยู่นานถึง 15 ปี) ตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนเมื่อ ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนมีรายได้ ไม่เพียงพอ ต้องเก็บ ‘ภาษีเกษตรกรรม’ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตของตนเองอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่ประชุมสภาผู้แทน ประชาชนแห่งชาติสร้างจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ให้จีนด้วยการลงมติผ่านข้อตกลงการยกเลิกรัฐบัญญัติภาษีเกษตรกรรม เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ตั้งแต่ธันวาคม 2005 เป็นต้นมา จีนไม่มี ‘ภาษีเกษตรกรรม’ เรื่องนี้สร้างพลังกำลังใจให้กับผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งอยู่ตามชนบท ทำไร่ไถนา สร้างผลผลิตให้คนทั้งประเทศกิน
...
อีกจุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนพุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้ก็คือเมื่อกันยายน 2013 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศอีไต้อีลู่ หรือ One Belt, One Road (ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21) ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล เมื่อหลายประเทศไม่สบายใจกับคำนี้ รัฐบาลจีนก็เปลี่ยนเป็น Belt and Road Initiative หรือ BRI อยากเรียนว่า BRI ทำให้จีนได้รับการยอมรับในฐานะมหาอำนาจใหม่ของโลก
เมื่อมีคนถามผมว่า ‘จีนเป็นมหาอำนาจเมื่อใด?’ ผมตอบทันทีว่า เป็นเมื่อจีนประกาศ BRI ในกันยายน 2013 การประกาศครั้งนี้ทำให้จีนได้รับความร่วมมือครอบคลุมไปทั่วโลก
จีนมาแรงแซงทุกโค้งจนเกิดการระบาดของโควิด-19 จีนก็เจอวิกฤติหนัก จีนเป็นประเทศที่โดนโจมตีเรื่องโควิด-19 มากที่สุด แต่ก็กัดฟันทน ไม่โต้ตอบ ไม่กระโตกกระตาก กระทั่งวิกฤตินี้ผ่านไปและมีการสำรวจความยากจนของผู้คน แทนที่จะพบว่าผู้คนมีความยากจนมากขึ้น กลับพบว่าคนจีนที่เดิมเป็นผู้ยากไร้พ้นจากเส้นแบ่งความยากจนมากถึง 98.99 ล้านคน เฮ้ย จีนจึงเป็นประเทศที่สามารถขจัดความยากจนได้สำเร็จอย่างสวยงาม
จีนโดนมหาอำนาจตะวันตกกระทำย่ำยีมาโดยตลอด เรารู้ว่าจีนอดทนและอดกลั้น จนกระทั่งในการประชุมที่อลาสกาของสหรัฐฯ ผู้แทนจีนไม่หงอกับตะวันตกเหมือนเดิม ผมจึงได้รู้ว่า ณ รัฐอลาสกา เมื่อมีนาคม 2021 นโยบายด้านการต่างประเทศของจีนเปลี่ยนไปแล้ว คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกใช้ชื่อบทความในวันที่ 19 เมษายน 2021 ว่า ‘นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
พ่อผมไปเยือนสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1991 เป็นช่วงที่สงครามเย็นสิ้นสุดลงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 30 ปี เมื่อเดือนเมษายน 2021 สงครามเย็นยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยนโยบาย Wolf Warrior Diplomacy หรือ ‘นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ของจีน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม