ขอแสดงความยินดีกับชาติรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของภาคพื้นทวีปยุโรปที่มีชื่อว่า ‘สาธารณรัฐโปรตุเกส’ ตั้งแต่ 04.00 น. ของ 31 ตุลาคม ถึง 09.00 น. ของ 6 พฤศจิกายน 2023 เป็นเวลา 149 ชั่วโมงติดต่อกัน โปรตุเกสใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ผมหมายถึง เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกเครื่องในสาธารณรัฐใช้พลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์ติดต่อกันเกิน 149 ชั่วโมง โดยโปรตุเกสเคยทำสถิติในอดีต 131 ชั่วโมงเมื่อ ค.ศ.2019

ทุกครั้งที่ผมเขียนถึงพลังงานหมุนเวียน หลายคนบอกว่า อ้า ใช้ได้ไม่จริง ขอเรียนครับว่า โปรตุเกสใช้ได้ทั้งประเทศกับประชากร ทั้ง 10 ล้านคน ในพื้นที่ 92,212 ตารางกิโลเมตรของจริงครับ ตัวเลขปริมาณพลังงานที่ผลิตออกมาเป็น 1,102 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง (GWh) โดยแท้ที่จริง ครัวเรือนและอุตสาหกรรมของโปรตุเกสใช้พลังงานที่ 840 GWh เท่านั้น ยังมีไฟฟ้าเหลืออีกครับ

รัฐบาลหลายประเทศโม้ว่าจะทำให้ประเทศของตนเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายใน ค.ศ.2025 ก็โม้ไปอย่างนั้นละครับ โปรตุเกสไม่ใช่ แค่โม้ แต่ทำจริง โดยเริ่มจากสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด และเริ่ม โครงการเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่ ค.ศ.2016 ความมุ่งมั่นจริงจังทำให้โปรตุเกสกลายเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรป

สิ่งที่โปรตุเกสกำลังทำในขั้นตอนต่อไปคือการนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาสร้างโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน ช่วงที่ไม่มีแดดก็ยังมีลมพัด หรือช่วงมีลมพัดน้อย ก็ยังมีแสงแดดที่ให้พลังงาน ประเทศก็จะไม่ขาดแคลนพลังงาน รัฐบาลต้องการจะรื้อโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติทิ้งทั้งหมดใน ค.ศ.2040 และจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนให้มากขึ้นเพิ่มอีก 2 เท่า ถ้าเป็นไปตามที่ฝ่ายพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลโปรตุเกสประกาศ โปรตุเกสจะเป็นประเทศแรกของโลกที่บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

...

มีหลายประเทศในโลกนี้ที่ซ่อนผลการศึกษาและผลการใช้งานของ พลังงานลมและไฮโดรเจน ยังไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลมากนักเพราะรายได้หลักของประเทศมาจากภาษีน้ำมัน หากนำเรื่องไฮโดรเจนหรือพลังงานหมุนเวียนประเทศอื่นมาใช้ปุ๊บ รายได้ของรัฐบาลก็จะหายไปปั๊บ

15 ปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเชิญคนไทย 2 คนไปศึกษา เรียนรู้และดูงานด้านพลังงานไฮโดรเจนในญี่ปุ่น คือคุณทนง ขันทอง (ขณะนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น) และ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย (ขณะนั้นเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หน้าสองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) ไปญี่ปุ่นคราวนั้น พ่อผมพบว่า พลังงานไฮโดรเจนของญี่ปุ่นพร้อมมาก ไม่ว่าจะรถยนต์ ตึกรามบ้านช่อง สามารถใช้พลังงานไฮโดรเจนได้อย่างเต็มรูปแบบ

นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งในขณะที่จีน สหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศทุ่มกับเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่ญี่ปุ่นไม่กระดิกพลิกตัวมาก อาจจะเป็นเพราะญี่ปุ่นคิดว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแทนรถยนต์พลังงานฟอสซิลเพียงระยะเวลาสั้นๆ และโลกก็จะเข้าสู่ยุคของพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งญี่ปุ่นมีทั้งงานวิจัย องค์ความรู้ และการนำไปทดลองปฏิบัติใช้จริงได้สำเร็จสมบูรณ์

ข่าวคราวของโปรตุเกสหายไปนาน ทั้งที่ในอดีต โปรตุเกสเคยเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่คู่มากับสเปน ค.ศ.1640 โปรตุเกสได้ชัยชนะในสงครามฟื้นฟูโปรตุเกส เคยเป็นเจ้าของสถานีการค้าและอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตก ตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล แม้แต่บอมเบย์ในอินเดียก็เคยถูกยกให้เป็นของขวัญของการเสกสมรสของเจ้าหญิงโปรตุเกสกับกษัตริย์อังกฤษ เกาะมาเก๊า เกาะติมอร์ รัฐกัว และโมซัมบิก อยู่ในความครอบครองของโปรตุเกส บราซิลและแองโกลาก็ใช่เช่นกัน

ค.ศ.1961 ทหารอินเดียเข้ามายึดรัฐกัวคืนจากโปรตุเกส อาณานิคมในแอฟริกาก็เรียกร้องเอกราช จักรวรรดิโปรตุเกสที่เคยยิ่งใหญ่ระหว่างศตวรรษที่ 15-17 มาสิ้นสุดลงของแท้ใน ค.ศ.1999 เมื่อคืนมาเก๊าให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ย้อนหลังกลับไปในอดีต โปรตุเกสยิ่งใหญ่ได้เพราะใช้กำลังกองเรือเข้าไปปล้นประเทศต่างๆ ปัจจุบันทุกวันนี้ ค.ศ.2016 โปรตุเกสเริ่มปรับภาพลักษณ์ตัวเองด้วยการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบัน โปรตุเกสกลับมายิ่งใหญ่ในฐานะประเทศที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในด้านการเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนเบอร์ต้นของโลก ขอแสดงความยินดีอีกครั้งครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม