หนทางหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของโลก ก็คือการศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลพืชหรือสัตว์ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์นามไมเคิล คิปป์ จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐอเมริกา รายงานการวิจัยซากฟอสซิลพืชโบราณ ที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของบรรยากาศที่ทำให้พืชเติบโต เพื่อช่วยไขความเข้าใจความเป็นมาของภูมิอากาศโลก

คิปป์ระบุว่า พืชตระกูลปรงโบราณซึ่งเป็นพืชที่มีขนาดเล็กคล้ายกับใบของปาล์ม ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาหารสุดโปรดปรานของไดโนเสาร์ชนิดกินพืช ปรงช่วยให้สัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ดำรงชีพอยู่ได้ แต่ปัจจุบันมีพืชที่มีลักษณะคล้ายปาล์มเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่อยู่รอดมาได้ในแหล่งอาศัยในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน คิปป์รู้อยู่แล้วว่าต้นปรงในปัจจุบันมีกิจกรรมตรึงไนโตรเจน ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นกระบวนการที่สิ่งมีชีวิตนำก๊าซไนโตรเจนจากบรรยา กาศมาเปลี่ยนเป็นโมเลกุล คิปป์จึงวิเคราะห์ฟอสซิลปรงโบราณไม่กี่ตัวอย่าง มีอายุประมาณ 20-30 ล้านปี และได้เห็นสัญญาณไนโตรเจนแบบเดียวกับที่เห็นในปัจจุบัน พร้อมระบุว่าไนโตรเจนมาจากแบคทีเรียทางชีวภาพ แต่ในฟอสซิลปรงที่เก่าแก่กว่านั้นและเป็นชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว พบว่าไร้สัญญาณของไนโตรเจน

จึงสรุปได้ว่าสายพันธุ์ปรงที่รอดชีวิตอาศัยแบคทีเรียทางชีวภาพในรากของพวกมัน ปรงเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนน้ำตาลกับแบคทีเรียในรากเพื่อแลกกับไนโตรเจนที่ดึงมาจากชั้นบรรยากาศ การค้นพบนี้ให้ภาพเกี่ยวกับระบบนิเวศของพืชเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์สภาพภูมิอากาศของโลกไปอีกขั้น การเรียนรู้นี้ก็เพื่อจะเข้าใจความเป็นไปได้ของสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต.

Credit : Michael Kipp, Duke University

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...