อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกินเพดาน 2 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก ขณะที่รายงานสหประชาชาติเตือนว่า อุณหภูมิโลกอาจพุ่งไปถึง 2.5-2.9 องศาเซลเซียส หากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. 2566 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Gap report) ฉบับใหม่ กำหนดวันประชุมเรื่องสภาพอากาศระหว่างประเทศไว้ที่สิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อหาทางรับมือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ย ที่อาจพุ่งไปสู่ 2.9 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้
ตามการประเมินในรายงานฉบับใหม่ การจะรักษาอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้มากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่นานาชาติตกลงกันไว้ใน ‘ความตกลงปารีส’ (Paris agreement) เมื่อปี 2558 ประเทศต่างๆ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 42% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือปี ค.ศ. 2030
แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาถ่านหิน, น้ำมัน และก๊าซ กลับเพิ่มขึ้น 1.2% ในปี 2565
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สประชาชาติ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
“ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ควรเรียกว่าหุบเขาลึกมากกว่า เป็นหุบเขาลึกที่เกลื่อนกลาดไปด้วย คำสัญญาที่บิดพลิ้ว, ชีวิตที่สูญเสีย และสถิติที่ถูกทำลาย ทั้งหมดนี้คือความล้มเหลวของผู้นำ, การทรยศต่อผู้เปราะบาง, และการพลาดโอกาสครั้งใหญ่”
“ผู้นำต้องยกระดับเกมของตัวเองขึ้นอย่างมากมาย ต้องทำเดี๋ยวนี้ ด้วยความทะเยอทะยานมากกว่าที่เคย, ลงมือทำมากกว่าที่เคย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าที่เคย การประชุมแผนสภาพอากาศแห่งชาติรอบต่อไปจะมีความสำคัญมาก แผนเหล่านั้นต้องได้รับการหนุนหลังด้านการเงิน, เทคโนโลยี, การสนับสนุน และหุ้นส่วนต่างๆ เพื่อทำให้มันเป็นไปได้ งานของเหล่าผู้นำที่ COP28 คือทำให้แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้น” นายกูเตร์เรส กล่าว
...
ตลอดปี 2566 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีวันที่ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกมากกว่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถึง 86 วัน แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 127 วันแล้ว เพราะเกือบทุกวันในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน และทุกวันในเดือนตุลาคม ล้วนมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแตะหรือเกิน 1.5%
สถิติล่าสุดหมายความว่า โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถึง 40% ของปีนี้
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 พ.ย. 2566) อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นจนมากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ ตามการเปิดเผยของ นางซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการของ ‘โคเปอร์นิคัส’ โครงการสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหภาพยุโรป
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสของความตกลงปารีส คือการมีอุณหภูมิที่วัดได้ต่ำกว่าค่าที่กำหนดเป็นเวลาหลายปี ไม่ใช่หลักวัน และโลกจะพลาดเป้าหมายระยะยาวในการควบคุมอุณหภูมิในช่วงต้นปี ค.ศ. 2029 หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างใหญ่หลวง
เพื่อไม่ให้เรื่องนั้นเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องตั้งเป้าหมายที่เคร่งครัดมากกว่าเดิม เพื่อตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และบังคับใช้นโยบายต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างเข้มงวด
ที่มา : ap