เมื่อพูดถึงความท้าทายยิ่งใหญ่ในยุคศตวรรษที่ 21 อันเป็นบทเรียนสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล “ยูวัล โนอาห์ แฮรารี” ได้วิเคราะห์ไว้อย่างแหลมคมในหนังสือ “21 Lessons for the 21st Century” หนึ่งในบทเรียนที่มองข้ามไม่ได้คือ “งาน” เมื่อเธอโตขึ้น เธออาจจะไม่มีงานทำ

ไม่มีใครมองออกว่าตลาดแรงงานจะหน้าตาเป็นอย่างไรในปี 2050 รู้แค่ว่าการเรียนรู้ของเครื่องจักรและวิทยาการหุ่นยนต์จะเปลี่ยนแปลงงานในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การผลิตโยเกิร์ตไปจนถึงการสอนโยคะ ภายในเวลาหนึ่ง หรือสองทศวรรษ คนนับพันล้านอาจกลายเป็น “ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” สวนทางกับความเชื่อเก่าๆที่ว่า ในระยะยาวแล้ว ระบบอัตโนมัติจะยังคงสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ และสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติมให้มนุษย์

ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความกลัวว่าระบบอัตโนมัติจะทำให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะทุกงานที่เสียไปให้กับเครื่องจักรจะมีงานอย่างน้อยอีกอย่างเกิดขึ้นใหม่ทดแทนเสมอ และโดยเฉลี่ยแล้วมาตรฐานค่าครองชีพก็ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด กระนั้น สถานการณ์ตอนนี้อาจแตกต่างออกไป การเรียนรู้ของเครื่องจักรยุคใหม่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริง

มนุษย์มีความสามารถ 2 แบบ คือ ทางกายภาพและทางความนึกคิด ในอดีตเครื่องจักรแข่งขันกับมนุษย์เรื่องความสามารถทางกายภาพแบบดิบๆ แต่มนุษย์ยังผูกขาดความได้เปรียบเหนือเครื่องจักรในเรื่องความนึกคิด ดังนั้น แม้งานเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจะมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แต่งานบริการใหม่ๆที่ต้องใช้ทักษะความนึกคิดยังคงมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้, การวิเคราะห์, การสื่อสาร และการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก

...

อย่างไรก็ดี เอไอยุคใหม่กำลังมีทักษะก้าวล้ำเกินกว่ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์!! ปัจจุบันการปฏิวัติเอไอไม่ได้หยุดแค่การพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้ฉลาดขึ้นและทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ยังขับเคลื่อนด้วยความรู้จากการค้นพบสิ่งใหม่ๆในวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสังคมศาสตร์ด้วย ยิ่งเราเข้าใจกลไกทางชีวเคมีมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก, ความต้องการ และทางเลือกของมนุษย์มากขึ้น ต่อไปคอมพิวเตอร์ย่อมสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์, ทำนายการตัดสินใจของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งทดแทนคนขับรถ, นายธนาคาร และนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์ได้

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยในสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เจาะลึกเข้าไปในความเป็นมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจว่ามนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งทำได้ดีขึ้นมาก ผลก็คือทำให้เจาะลึกได้ว่าเบื้องหลังการเลือกทุกอย่างของมนุษย์ตั้งแต่อาหารไปจนถึงการจับคู่ไม่ได้เป็นผลลัพธ์จากเจตจำนงอิสระอันลึกลับใดๆ แต่เป็นผลจากการคำนวณความน่าจะเป็นต่างๆของเซลล์ประสาทภายในเวลาเสี้ยววินาทีที่มักคุยโอ่กันถึง “สัญชาตญาณหยั่งรู้ของมนุษย์” แท้จริงแล้วเป็นแค่ “การรู้จำเรื่องรูปแบบ” (pattern recognition)

หมายความว่า คนขับรถเก่งๆ, นายธนาคารเก่งๆ และนักกฎหมายเก่งๆ ไม่ได้มีสัญชาตญาณราวเวทมนตร์วิเศษอะไร แค่มีความสามารถในการรับรู้เรื่องรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ พวกเขาจับสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงคนเดินเท้า ที่สะเพร่าเผอเรอ, หลีกเลี่ยงผู้ขอกู้เงินทึ่มๆ และคนโกงไม่ซื่อสัตย์

อัลกอริทึมทางชีวเคมีของสมองมนุษย์ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบมาก ทำงานโดยอาศัยประสบการณ์จากการแก้ปัญหา, ทางลัด และวงจรสมองล้าสมัย ซึ่งปรับตัวให้เข้ากับทุ่งสะวันนาในแอฟริกาแทนที่จะเป็นป่าคอนกรีต บางครั้งคนขับรถ, นายธนาคาร และนักกฎหมายเก่งๆ ก็ทำผิดได้ง่ายๆ

บอกเลยว่าต่อไปเอไอจะทำได้ดีกว่ามนุษย์ แม้แต่ในงานที่เชื่อว่าต้องใช้สัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นการขับยานพาหนะบนถนนที่เต็มไปด้วยคนเดินเท้า, การให้คนแปลกหน้ายืมเงิน และการเจรจาต่อรองทางธุรกิจที่ต้องอาศัยความสามารถในการประเมินอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง

เมื่อถึงปี 2050 อาจเกิด “ชนชั้นไร้ประโยชน์” ไม่ใช่แค่ไร้งานไร้การศึกษาที่เหมาะกับยุคสมัย แต่ยังขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ เพราะไม่สามารถปรับตัวรับการปฏิวัติครั้งใหญ่ของตลาดแรงงานที่เกิดงานรูปแบบ ใหม่ๆให้ฝึกฝนเรียนรู้ตลอดเวลา กลายเป็นมนุษย์หัวใจสลายที่ติดอยู่กับอุดมคติ เก่าๆ โดนลอยแพทั้งๆที่เฝ้าทุ่มเททำงานหนักในอาชีพที่รักมาทั้งชีวิต.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม