สหภาพยุโรปเตรียมพิจารณามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียระลอกที่ 12 ซึ่งจะมีการห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซียเป็นครั้งแรก และเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ย. 2566 ทูตสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอให้มีการห้ามนำเข้าเพชรและก๊าซแอลพีจี จากประเทศรัสเซีย รวมถึงให้เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เป็นส่วนของแพ็กเกจคว่ำบาตรมอสโกรอบใหม่

แพ็กเกจคว่ำบาตรครั้งที่ 12 นี้ ยังมีมาตรการห้ามนำเข้าโลหะบางจำพวกจากรัสเซีย และห้ามขนส่งสินค้าและเทคโนโลยีที่อาจส่งเสริมขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมผ่านรัสเซีย

สมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศจะหารือกันเรื่องมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้ในวันศุกร์ (17 พ.ย.) และคาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อบังคับใช้มาตรการ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากชาติสมาชิกทั้งหมด

หากข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ EU จะเริ่มห้ามนำเข้าเพชรโดยตรงจากรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป และเริ่มบังคับใช้กลการสืบสวนแหล่งที่มาในเดือนมีนาคม เพื่อป้องกันการนำเข้าอัญมณีรัสเซียที่ผ่านกระบวนการในประเทศที่ 3

คณะกรรมาธิการยุโรปยังผลักดันมาตรการควบคุมการส่งออกของเรือบรรทุกน้ำมันทั้งเก่าและใหม่ไปยังรัสเซีย เพื่อควบคุมเพดานราคาน้ำมันรัสเซียอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันรัสเซียหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของพวกเขา และมุ่งเป้าหมายไปหน่วยงานทางกองทัพ, ความมั่นคง และไอที ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า ประเทศขนส่งขนาดใหญ่อย่าง กรีซ กับ ไซปรัส จะยอมเห็นชอบด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตเพชรดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเหมืองเพชรหลายร้อยแห่งในภูมิภาคไซบีเรีย ซึ่งมันถูกใช้ทำแหวนแต่งงาน, สร้อยคอ, ต่างหู กับเครื่องประดับอื่นๆ ทั่วโลก แต่อัญมณีชนิดนี้รอดพ้นจากการคว่ำบาตรของ EU มาตลอด ซึ่งเหตุผลหลักคือ เบลเยียมต้องการเพื่อปกป้องเมืองอันต์เวิร์ป ที่ได้ชื่อว่า เมืองหลวงของเพชรโลก

...

อันท์เวิร์ปเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 โดยเพชรดิบมากกว่า 80% จากเหมืองทั่วโลก ถูกซื้อขายกันที่นี่ และก่อนจะเกิดสงครามยูเครน เพชร 1 ใน 4 จากมาจากรัสเซีย ซึ่งการนำเข้าแต่เพชรที่ไม่ใช่ของรัสเซียจะส่งผลให้ราคาเพชรแพงขึ้น เรื่องจากทุกคนจะซื้อเพชรจากซัพพลายเออร์เจ้าเดียวกัน

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : reutersbbc