คงเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าโมโหในเวลาเดียวกัน หากถูกใครสักคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างผิดๆ จนสร้างความบอบช้ำให้แก่ผู้ฟัง แต่คนเหล่านั้นกลับอ้างว่า กำลังใช้ “เสรีภาพ” ในการพูดความจริง
เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) คือ สิทธิในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของการพูด งานเขียน ภาพวาด บทเพลง ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมาย กระนั้น เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกไม่ใช่ข้ออ้างในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของใคร
เช่นเดียวกับคดีนี้ที่ไต้หวัน มีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแซ่หวังได้โพสต์รูปวัยเด็กของเพื่อนร่วมห้องแซ่หลี่บนอินสตาแกรม พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของหลี่ ล้อเลียนครอบครัวหลี่ รวมถึงกีดกันไม่ให้หลี่อยู่ในกลุ่มห้องเรียนบนแอปพลิเคชันไลน์ของชั้นเรียนเมื่อช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ปี 2565 เป็นผลให้ครอบครัวหลี่ฟ้องเรียกค่าชดเชยต่อครอบครัวของหวังให้เป็นมูลค่า 400,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือราว 450,000 บาท หลังหลี่ได้รับผลกระทบทางจิตใจรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลและต้องย้ายออกจากโรงเรียน
ด้านครอบครัวของหวังอ้างว่า ลูกของพวกเขาไม่เคยเอ่ยชื่อหลี่เลยสักครั้ง การแสดงความคิดเห็นต่อรูปร่างของคนอื่นว่าดูดีหรือน่าเกลียดคือ “การใช้เสรีภาพในการพูด” รวมถึงเด็ก ม.ปลาย ไม่สามารถแบนเพื่อนร่วมห้องออกจากเพื่อนคนอื่นๆ ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ศาลเขตซื่อหลิน กรุงไทเป ตัดสินให้ครอบครัวหวังจ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวผู้เสียหายจำนวน 70,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือราว 77,000 บาท โดยชี้แจงว่า แม้หวังได้ขอโทษหลี่เป็นลายลักษณ์อักษร และการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบทางจิตรุนแรง บ่งชี้เป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของหลี่และต้องย้ายโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองของหลี่ก็ได้รับความเสียหายจากการกล่าวเท็จของหวัง
...
จากกรณีดังกล่าว หลายคนอาจเข้าใจว่า เราสามารถใช้เสรีภาพของตัวเองในการสื่อสารอะไรก็ได้ดั่งใจคิดโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่ตามมาจากความคิดเห็นของตน แต่หลายครั้งก็หลงลืมไปว่า สิ่งเหล่านี้อาจสร้างผลกระทบให้ใครคนใดคนหนึ่งเช่นเดียวกับสิ่งที่หลี่กำลังประสบพบเจอ รวมถึงอาจรุนแรงจนสร้างความเกลียดชังในสังคมเป็นวงกว้างได้ อาทิ กรณีการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม