ถามว่ารถไฟฟ้าจีนที่มาแรงกับรถญี่ปุ่นที่ปรับตัวเชื่องช้า ใครจะเป็นผู้อยู่รอดในอนาคต ตอนนี้คงตอบได้ยาก รู้แต่ว่าคนไทยกำลังเห่อรถไฟฟ้าจีนอย่างมาก เพราะแพ้ความถูกและดี
ก่อนหน้านี้มีข่าวรถไฟฟ้าจีนทั้งเก่าล้าสมัยและใหม่ป้ายแดงถูกทิ้งนับหมื่นคันบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งในเมืองกวางโจว และยังมีสุสานรถไฟฟ้ากระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆของจีนอย่างน้อย
6 เมือง ฟ้องว่าจีนกำลังประสบ “วิกฤติฟองสบู่รถ EV” อันเป็นผลมาจากการสร้างตลาดเทียมของรัฐบาลจีนที่ออกนโยบายสนับสนุนรถ EV เต็มสูบ ด้วยการให้เงินอุดหนุนสูงถึง 60,000 หยวน หรือราว 300,000 บาทต่อคัน ตั้งแต่ปี 2009-2022 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนสูงถึง 6 ล้านคัน ในปีที่ผ่านมา ครองส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่งของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั่วโลก
กระนั้น จากที่เคยภูมิใจว่าเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก และมีเทคโนโลยีล้ำหน้าชาติอื่นๆในเรื่องรถ EV เจาะให้ลึกลงไปแล้วกลับกลายเป็นว่า จีนกำลังประสบวิกฤติใหญ่ เพราะกว่า 80% ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนอยู่ไม่รอดหลังโควิด จากที่เคยเปิดตัวคึกคักเกือบ 500 ราย ในปี 2019 ถึงตอนนี้ปิดกิจการไปแล้วมากกว่า 400 ราย เหลือที่ยืนหยัดอยู่ได้เพียง 100 ราย
ย้อนกลับไปในปี 2009 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเส้นทางสู่มหาอำนาจรถ ไฟฟ้าจีน บริษัทในจีนเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดครั้งแรก มีทั้งรถบัส, แท็กซี่ และรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ทำยอดขายได้เพียง 500 คัน กระทั่งรัฐบาลต้องออกนโยบายพยุงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยทำสัญญาจัดซื้อกับภาคเอกชน เพื่อผลิตรถไฟฟ้าสำหรับใช้ในระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามมาด้วยการให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นดีมานด์ที่รัฐบาลจีนยอมควักกระเป๋าต่อเนื่องกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้แจ้งเกิดในจีน ดึงดูดให้บริษัทจีนจำนวนมากกระโจนเข้ามาทำธุรกิจนี้ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาเชือดเฉือนรุนแรง
...
อย่างไรก็ดี ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจจีนซบเซาลงอย่างหนัก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้าจีน บริษัทให้เช่ารถ EV และบริษัทผู้ให้บริการรถร่วมโดยสารจำนวนมากต้องปิดตัวลง เพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดสุสานรถไฟฟ้าทั่วจีนก็เพราะบริษัทผู้ให้บริการรถร่วมโดยสารที่ซื้อรถไฟฟ้ามาให้บริการลูกค้าตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน โละทิ้งรถรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพการใช้งานต่ำ วิ่งได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้ง แล้วหันมาซื้อรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเพื่อใช้งานแทน
พวกที่เดือดร้อนหนักก็เห็นจะเป็นเหล่าสตาร์ตอัพที่มีเงินทุนจำกัด พอเจอการแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านและภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็ต้องล้มระเนระนาดตามกันไป คงเหลือแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทุนหนาและสายป่านยาวเท่านั้นถึงจะอยู่รอดมาได้
ดูอย่างค่ายรถ BYD สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ เพราะมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองเสิ่นเจิ้น ที่ต้องการผลักดันให้ BYD ไปสู้กับเจ้าตลาดใหญ่ของโลกอย่าง Tesla โดยเสิ่นเจิ้นทำสถิติเป็นเมืองแรกของโลกที่มีรถบัสโดยสารทุกคันใช้ระบบไฟฟ้า
ใครคิดจะเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าก็ต้องใคร่ครวญให้หนัก ประหยัดจริง...เท่จริง...รักษ์โลกจริง แต่เสี่ยงถูกทิ้งไว้กลางทางหรือเปล่า?!
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม