กลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีการเมือง หลังนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รายงานบทสัมภาษณ์โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกับทีมงาน ที่แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวภายในฝ่ายบริหาร และวิตกกังวลของผู้นำที่เริ่มเข้าขั้นหวาดระแวง มองว่าในรัฐบาลไม่มีใครเลยที่เชื่อมั่นในชัยชนะ

โดยกรณีนี้มีบทความที่น่าสนใจจากขั้วรัสเซียที่รอจ้องขยี้อยู่ทุกชั่วโมงยาม สำนักข่าวอาร์แต (RT) รายงานวิจารณ์ว่า จากบทความของไทม์เป็นการตอกย้ำให้ชนชั้นสูงของชาติตะวันตก ทวีความเชื่อมั่นว่าเงินทุนทั้งหลายที่ให้ยูเครนไปจะถูกนำไปผลาญเพื่อความทะเยอทะยานของคนคนเดียว และอาจส่งผลให้แผนการ “เปลี่ยนตัวผู้นำยูเครน” มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นความจริง

เพราะหากดูรูปการณ์แล้ว ชาติตะวันตกย่อมต้องการผู้นำที่เป็นหุ่นเชิดทำตามใบสั่ง หรือไม่ก็เกลี้ยกล่อมเจรจาง่าย ซึ่งดูจากระยะหลังก็เริ่มมีการโปรโมตกระแสการจัด “เลือกตั้ง” ในยูเครนปีหน้า พร้อมชูตัวละครเก่าขึ้นมาอย่างเปโตร โปโรเชงโก อดีตประธานาธิบดียูเครนคนก่อน หรือยูเลีย ติโมเชงโก อดีตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือตัวเซเลนสกีเองก็ปฏิเสธการจัดเลือกตั้งอย่างหนัก โดยระบุว่าหากเปลี่ยนตัว แล้วใครจะเป็นคนพิทักษ์มนุษยชาติ อยากเลือกตั้งก็จัดกันเอง (ตะวันตก) ออกเงินกันเอง ซึ่งแน่นอนว่า หากมีการเลือกตั้งจริงๆ เซเลนสกีมีความเป็นไปได้สูงที่จะชนะ เนื่องจากผลโพลชาวยูเครน 60-80% มองว่าการเลือกตั้งควรดำเนินการหลังความขัดแย้งยุติลง ขณะที่ความนิยมในตัวผู้นำก็ยังอยู่ที่ 76%

นอกจากนี้ เซเลนสกีเองก็รวบจัดสรรอำนาจ แบบรวมศูนย์ เรื่องทุกอย่างต้องผ่าน “กรุงเคียฟ” ทีมบริหารมีแต่กลุ่มเพื่อนคนสนิท สื่อมวลชนข่าวสารต้องไปในทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่ชาติตะวันตกจะดำเนินการแทรกแซง มีแต่ต้องคุมเซเลนสกีให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คุมไม่ได้เลย

...

นำไปสู่คำถามที่ว่า หนทางตอนนี้ของ ชาติตะวันตกเหลือเพียง 2 อย่างใช่หรือไม่ นั่นคือเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำยูเครนยอมไปแต่โดยดี หรือไม่ก็จัดการ “ปลด” อย่างเลือดเย็น เพราะสุดท้ายวีรบุรุษที่พลีชีพย่อมง่ายต่อการพีอาร์ เช่นเดียวกับคำถามว่า รัสเซียควรคุ้มครองเซเลนสกีจะเป็นการดีกว่า เนื่องด้วยการดึงดันรบอย่างที่ทำอยู่ ย่อมทำให้รัฐบาลง่อนแง่นยิ่งขึ้น และมีโอกาสที่จะล่มสลายง่ายกว่า.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม