ชาวอินคาปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกและที่ราบสูงแอนเดียน เรื่องของชาวอินคาเป็นความสนใจของนักโบราณคดีมากมาย การขุดค้นพบหลักฐานใดๆ ของสังคมคนโบราณเหล่านี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูสู่อดีตของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

หลักฐานหนึ่งที่โด่งดังก็คือมัมมี่ยุคอินคาจากเปรู ที่ค้นพบในปี พ.ศ.2538 บนพื้นที่สูงมากกว่า 6,000 เมตร ใกล้ภูเขาไฟอัมปาโตที่ปกคลุมด้วยหิมะ นอกเมืองอาเรกีปา ทางตอนใต้ของเปรู มัมมี่ระบุว่าเป็นเด็กสาววัยรุ่นวัย 14 หรือ 15 ปี เชื่อกันว่าถูกบูชายัญในพิธีกรรมของชาวอินคาเพื่อถวายแด่เทพเจ้าเมื่อกว่า 500 ปีก่อน ในเทือกเขาแอนดีส เธอถูกตั้งชื่อว่า “ฮัวนีตา” (Juanita) หรือ “อินคา ไอซ์ เมเดิน” ล่าสุดนักโบราณคดีจากศูนย์ศึกษาแอนเดียนแห่งมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ในโปแลนด์ และพิพิธภัณฑ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แอนเดียนแห่งมหาวิทยาลัยคาทอลิกซานตามาเรีย ในเมืองอาเรกีปา เปรู รวมถึงประติมากรชาวสวีเดนที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างใบหน้าใหม่ เผยถึงการสร้างรูปโฉม “ฮัวนีตา” จากการสแกนดิจิทัลร่างกาย ศึกษาดีเอ็นเอ ลักษณะทางชาติพันธุ์ อายุ ผิวพรรณมาประกอบการทำงานที่ใช้เวลาราว 400 ชั่วโมงจนสามารถสร้างใบหน้าจำลองของเด็กสาวชาวอินคาคนนี้ได้

...

ใบหน้าและท่อนบนจำลองของร่างกาย “ฮัวนีตา” ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ จะเห็นว่าริมฝีปากของเธอเผยอขึ้นเล็กน้อย ดวงตาสีเข้มเหมือนจ้องมองไปที่อันแสนไกล ชุดห่มกายสีสันสดใสตกแต่งด้วยเครื่องประดับมีผ้าโพกศีรษะ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เด็กสาวคนนี้ถูกบูชายัญด้วยการทุบตีที่ศีรษะ ซึ่งอาจเป็นพิธีกรรมที่ชาวอินคาใช้เพื่อขอให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติบรรเทาเบาลง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่