ขึ้นชื่อว่าเป็นงานอดิเรกและของสะสมส่วนตัว ไม่ว่าจะเลอค่าหายากขนาดไหน ทั้งพระเครื่อง, ของเก่า, เหรียญ, รูปปั้น, งานศิลปะ และแสตมป์ แต่ลองเจ้าของบ๊ายบายลาจากโลกนี้ไปแล้ว จะหวังให้ลูกหลานรับช่วงสืบทอดดูแลต่อ เห็นจะเป็นเรื่องยากถึงยากที่สุด อันนี้ต้องทำใจไว้ล่วงหน้าเลย

แม้แต่ระดับประมุขของประเทศอย่าง “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามแห่งสหราชอาณาจักร” ผู้ครองตำแหน่งรัชทายาทยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ทรงมีแผนจะโละทิ้งของสะสม หลายอย่างของพระราชมารดาผู้ล่วงลับ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” หนึ่งในนั้นก็คือ “คลังสะสมแสตมป์” มูลค่ามากกว่า 100 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นงานอดิเรกของบรรพบุรุษที่ส่งมอบเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น เรียกว่าเป็นหนึ่งในฮอบบี้ระดับตำนานของราชวงศ์วินด์เซอร์

ในบรรดาพระราชวงศ์ชั้นสูงของวินด์เซอร์ “พระเจ้าจอร์จที่ห้า” พระอัยกาของ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ทรงเป็นนัก สะสมแสตมป์ตัวยงตั้งแต่สมัยดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าชาย ทรงทำสถิติซื้อแสตมป์ในราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์มาแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 1904 เจ้าชายหนุ่มทรงจ่ายเงิน 1,450 ปอนด์ เพื่อแลกกับแสตมป์เพียงดวงเดียว

เมื่อถึงยุคที่แสตมป์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ตกทอดมาถึงมือ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” งานอดิเรกเล็กๆของครอบครัวก็ขยายตัวกลายเป็น “คลังสะสมแสตมป์” ที่รวบรวมเข้าไว้ด้วยกันมากถึง 328 อัลบั้ม

ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ “ฟิล แดมเพียร์” บอกเล่าถึงความหลงใหลในการสะสมแสตมป์ของ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ซึ่งไม่เป็นสองรองใครว่า องค์ควีนโปรดที่จะอวดคอลเลกชันสะสมแสตมป์ให้อาคันตุกะผู้มาเยือนได้ชื่นชม ทรงภาคภูมิใจกับงานอดิเรกชั้นสูงที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่เพียงเพราะได้ครอบครองแสตมป์หายากที่สุดของโลกนับไม่ถ้วน แต่ยังทรงเพียรต่อยอดคลังสมบัติของบรรพบุรุษให้งอกงามขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่าจะทำให้พระราชบิดาและบรรพบุรุษภูมิใจในตัวพระองค์

...

อย่างไรก็ดี เหตุผลสั้นๆของกษัตริย์นักปฏิรูปที่ตัดสินพระทัยจะโละทิ้ง “คลังสะสมแสตมป์” ของพระราชมารดา ก็คือไม่ทรงมีแพสชันในงานอดิเรกที่แสนฟุ่มเฟือยนี้เฉกเช่นพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายของวินด์เซอร์ ตรงกันข้ามพระองค์สนพระทัยในเรื่องการสะสมงานศิลปะมากกว่า โดยเฉพาะภาพเขียนจิตรกรรมทั้งหลาย ทรงยอมรับว่ามีแรงดึงดูดอย่างประหลาดชวนให้หลงใหลในแบบที่กิจกรรมและงานอดิเรกอื่นๆไม่สามารถเทียบได้ นอกจากนี้ยังโปรดการทำสวน และมีความสุขกับการใช้ชีวิตกลางแจ้งมากกว่าจะมานั่งส่องดูแสตมป์

ก็ได้แต่หวังว่ารัชทายาทอันดับหนึ่งอย่าง “เจ้าชายวิลเลียม” จะทรงยอมแบกภาระ “คลังสะสมแสตมป์” มูลค่ากว่า 100 ล้านปอนด์ ไปดูแลแทนพระราชบิดา คิดซะว่าอย่างน้อยก็เพื่อเก็บความทรงจำดีๆของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม