อุตสาหกรรมอาหารก่อให้เกิดทั้งของเสียและผลพลอยได้อย่างมหาศาล เช่นการผลิตสัตว์ปีกอย่างไก่ ในแต่ละปีจะมีขนไก่ราวๆ 40,000 ล้านกิโลกรัมถูกเผาทำลาย สิ่งนี้ไม่เพียงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก แต่ยังก่อให้เกิดก๊าซพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้นักวิจัยพยายามหาวิธีเปลี่ยนขนไก่มาเป็นประโยชน์

ล่าสุดทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในนครซูริก สวิตเซอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ในสิงคโปร์ ได้นำขนไก่ไปผ่านกระบวนการที่เรียบง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสกัดโปรตีนเคราตินจากขนและเปลี่ยนแปลงให้เป็นเส้นใยละเอียดพิเศษเรียกว่า เส้นใยอะไมลอยด์ คือกลุ่มก้อนโปรตีนชนิดต่างๆที่พับงอผิดรูป เส้นใยเคราตินเหล่านี้จะนำไปใช้ในเยื่อแผ่นสังเคราะห์บางๆของสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ ที่จะทำให้เกิดการแยกสถานะของสสารออกจากกัน หรือเรียกว่าเมมเบรน โดยเส้นใยเคราตินจากขนไก่ที่ทีมของ 2 สถาบันศึกษาพัฒนาขึ้น จะนำไปใช้กับเมมเบรนของเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์จากไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยจะปล่อยเฉพาะความร้อนและน้ำเท่านั้น

การแปรเปลี่ยนขนไก่ด้วยกระบวนการดังกล่าว อาจมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนได้ในอนาคต เป็นการใช้ขยะทางอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากในเซลล์เชื้อเพลิงทั่วไป เมมเบรนเหล่านี้จะผลิตขึ้นโดยใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงหรือเป็นสารเคมีชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีขนาดใหญ่ที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีราคาแพงและไม่สลายตัวในสิ่งแวดล้อม ทว่าขนไก่มีเคราติน 90% จะทำให้เมมเบรนที่ผลิตได้ในห้องปฏิบัติการทดลองมีราคาถูกกว่าเมมเบรนทั่วไปหลายเท่า.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...