แค่คุยกับเพื่อนว่าอยากได้อะไร อยากไปเที่ยวไหน อยากทำอะไรกัน โฆษณาในมือถือก็จะเด้งขึ้นมาทันทีตามหัวข้อที่เราสนใจ จนรู้สึกได้ว่าเรากำลังโดนดักฟังแน่ๆ!! แถมล่าสุด AI ยังถูกนำมาใช้เพื่อแอบดักฟังรหัสผ่านจากเสียงแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างแม่นยำเกือบ 100% เรียกว่าโลกนี้เริ่มอยู่ยาก และ AI ช่างน่ากลัวขึ้นทุกวันจริงๆ

มหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ค้นพบวิธีการขโมยรหัสผ่านแบบใหม่ โดยเอา AI ตัวจี๊ดใส่ลงในสมาร์ทโฟนและวางไว้ใกล้ๆ กับโน้ตบุ๊กที่กำลังพิมพ์งานอยู่ ปรากฏว่า AI ตัวนี้สามารถถอดรหัสสิ่งที่พิมพ์อยู่ได้อย่างแม่นยำถึง 95% คิดดูว่าถ้า AI ไปฝังอยู่ในโน้ตบุ๊กที่มีไมโครโฟนรับเสียงอยู่แล้ว มันย่อมรู้ทันทีว่าเรากำลังพิมพ์ข้อความอะไรอยู่ ไม่อยากจินตนาการเลยว่าจะอันตรายขนาดไหนถ้าตกอยู่ในมือมิจฉาชีพหรือผู้ก่อการร้าย

เมื่อหลายปีก่อน “เฟซบุ๊ก” ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าแอบฟังผู้ใช้งานคุยกันจริงๆ โดยมีรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ลงทุนจ้างพนักงานชั่วคราวหลายร้อยคนเพื่อถอดข้อความเสียงจากผู้ใช้งานบน Messenger App โดยอ้างว่าไม่ได้คิดจะละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือใช้ทำมาหากิน แต่อยากทดสอบประสิทธิภาพของ AI ว่าสามารถแปลข้อความเหล่านี้ได้แม่นยำแค่ไหน

ที่น่ากลัวคือ “เฟซบุ๊ก” ยอมรับว่าสามารถเข้าถึงเสียงสนทนาได้จริง หากผู้ใช้งานกดอนุญาตให้ “เฟซบุ๊ก” เข้าถึงได้ เรียกว่าเราเปิดประตูให้เขาเข้ามาเองซะงั้น “เฟซบุ๊ก” ใช้บริการบริษัทอื่นทำหน้าที่ตรวจสอบบทสนทนาเหล่านี้มานานแล้ว โดยถือเป็นความลับสุดยอดที่ห้ามแพร่งพรายเด็ดขาด

...

ตอนขึ้นแถลงต่อวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” เคยเถียงคอเป็นเอ็นว่า คุณกำลังพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดที่ชี้ว่าเราแอบฟังผู้ใช้งานเพื่อการโฆษณา แต่เราไม่เคยทำเช่นนั้น

ไม่เฉพาะแต่ “เฟซบุ๊ก” ที่โดนตรวจสอบเรื่องการแอบฟัง และนำข้อความเสียงของผู้ใช้งานไปหาประโยชน์ทางธุรกิจ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ Apple ก็เข้าข่ายมีพฤติกรรมชอบแอบดักฟังผู้ใช้งานมานานแล้ว

แม้มนุษย์จะหวาดกลัว AI ที่พัฒนาเร็วจนน่ากลัวและฉลาดล้ำเกินมนุษย์ ถึงขั้นจินตนาการไปไกลว่าในอนาคต AI อาจจะครองโลกแทนมนุษย์ ไม่ใช่แค่แย่งงานทำ กระนั้น AI ก็มีคุณอเนกอนันต์ต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า AI มีศักยภาพที่จะเพิ่มมูลค่า GDP ทั่วโลกได้มากถึง 16% คิดเป็นมูลค่า 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่ม 1.2% ของอัตราการเติบโตผลผลิตประจำปี แซงหน้าผลผลิตของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคก่อน

สงครามระหว่างมนุษย์กับเหล่าปัญญาประดิษฐ์ในภาพยนตร์ไซไฟทั้งหลายอาจเป็นเพียงจินตนาการฟุ้งๆ ของมนุษย์ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ถ้ามนุษย์รู้จักสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรม ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาพัฒนา AI เพื่อสนองความโลภ หรือจ้องใช้ AI ทำลายล้างศัตรูคู่แข่ง.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม