อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นับแต่ยกเลิกมาตรการคุมเข้มเปิดรับชาวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปลายปีก่อน จนใกล้แตะระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม การที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแห่แหนเดินทางมาเยือนแดนปลาดิบอย่างหนาแน่นจนล้น แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งความแออัดเบียดเสียด เกิดมลพิษ และยังรบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของชาวบ้าน เป็นสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นนอกจากจะต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วยังต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นจากระดับ 4.8 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1,167,895 ล้านบาท) ในปี 2562 เพื่อให้แตะระดับ 5 ล้านล้านเยน (หรือราว 1,216,558 ล้านบาท) โดยเร็วที่สุด

จนต้องปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยว มุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับ “อภิมหาเศรษฐี” ผู้ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่แปลกใหม่ นอกเหนือไปจากสถานที่ท่องเที่ยวสุดคลาสสิกอย่างกรุงโตเกียว เมืองเกียวโต และนครโอซากา โดย ชูจุดเด่นของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยการบริการระดับซุปเปอร์พรีเมียม ตั้งแต่การเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ หรือซุปเปอร์ยอชต์ ส่วนตัวตามความต้องการ ไปจนถึงการจองร้านอาหารที่ดีที่สุดทั่วประเทศ นอกจากจะช่วยกระจายรายได้การท่องเที่ยวไปทั่วประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นผ่านเครือข่ายนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้คำนิยาม “นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง” (High-Value Travelers) คือ ผู้ที่ใช้จ่ายตั้งแต่ 1 ล้านเยน ขึ้นไป (หรือราว 245,000 บาท) ต่อทริปใน ญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2562 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว กลุ่มนี้จากสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย และจีนมาเยือนเพียง 1% ของนักท่องเที่ยวขาเข้า แต่มีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.5% ของค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

...

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้รัฐบาลได้ร่นระยะเวลาการขออนุญาตการลงจอดของเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากเดิมอย่างน้อย 10 วัน ก่อนเดินทางถึงเหลือเพียง 3 วัน ตอบรับไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบกะทันหัน หลังจากยกเครื่องกฎการเดินทางมาโดยเรือส่วนตัวซุปเปอร์ยอชต์มาแล้วเมื่อปี 2564.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม