วันนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำตลอดกาลของจีน เป็นประธานการประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่าง 17-18 ตุลาคม กระทรวงการต่างประเทศจีน คาดว่า จะมีผู้นำและผู้แทนจาก 130 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุม “สายแถบและเส้นทาง” ในครั้งนี้ รวมทั้ง ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซีย คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็บินไปร่วมประชุมกระทบไหล่ ประธานาธิบดีสี และ ประธานาธิบดีปูติน ด้วย

การประชุม “สายแถบและเส้นทาง” (BRI) มีชื่อจำง่ายๆว่า “เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน” ครั้งนี้เป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีไปด้วยในตัว

Belt and Road Initiative (BRI) ริเริ่มโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปี 2556 เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนในระยะยาว เป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วมากเพียง 10 ปีก็มีสมาชิกถึง 149 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 52 ประเทศ เอเชีย 38 ประเทศ ยุโรป 27 ประเทศ อเมริกาเหนือ 12 ประเทศ ไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกบีอาร์ไอ แต่ไม่ค่อยแอ็กทีฟเท่าไหร่ ไทยจึงคว้าประโยชน์จากการเข้าร่วมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ไม่ค่อยเต็มที่

เส้นทางรถไฟสำคัญของบีอาร์ไอที่ผ่านไทยก็คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เชื่อม คุนหมิง ผ่าน สปป.ลาว สู่ หนองคาย-โคราช-กรุงเทพฯ ลงใต้ต่อไปถึง มาเลเซีย-สิงคโปร์ แต่มาติดแหงกอยู่ที่ประเทศไทย ไทยเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนก่อนลาว แต่ลาวซึ่งเริ่มโครงการหลังไทยหลายปี กลับสร้างเสร็จก่อนไทย

รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน วิ่งระหว่าง เวียงจันทน์-บ่อเต็น เชื่อมจีนเข้าไปถึง นครคุนหมิง และเชื่อมต่อไปทั่วโลก ใช้เวลาก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เพียง 5 ปี เปิดใช้เดือนธันวาคม 2564 ไทยเริ่มก่อสร้างพร้อมลาวจนถึงวันนี้ 7 ปีแล้ว เพิ่งจะสร้างเสร็จแค่ 3.5 กม. ในที่สุดอาจจะเป็น รถไฟความเร็วสูง 10 ชั่วโคตรสายแรกของโลก ก็ได้ เหมือน ถนน 10 ชั่วโคตร ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย

...

รัฐบาลจีนได้เผยแพร่สมุดปกขาวบีอาร์ไอชื่อ “โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง-เสาหลักสำคัญของประชาคมโลกแห่งอนาคตร่วมกัน” ระบุว่า จีนมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงโลกและการพัฒนาให้เข้าถึงกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันผ่านบีอาร์ไอ เพื่อขจัดคอขวดปัญหาการขนส่งทั้งภายใน ระหว่างประเทศ และระหว่างภูมิภาค ทำให้การขนส่งข้ามพรมแดนและการค้าระหว่างประเทศง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น วันนี้จีนมีเส้นทางรถไฟขนสินค้าไปยังเมืองหลวงยุโรปหลายประเทศ ไทยเองก็ต้องพึ่งรถไฟความเร็วสูงลาวขนสินค้าไปขายจีน

จีนระบุว่า ปี 2565 การลงทุนโดยตรงข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็น 17.2% ของยอดรวมทั่วโลก ประกอบด้วย การก่อสร้างทางรถไฟ ทางหลวง การขนส่งพลังงาน การสื่อสาร และบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานอื่นๆ ข้อมูลจากตะวันตกระบุว่า นับตั้งแต่จีนก่อตั้งบีอาร์ไอในปี 2013 จนถึงปี 2022 มีการลงทุนในเส้นทางบีอาร์ไอแล้วกว่า 962,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 34.6 ล้านล้านบาท มีมูลค่าการค้าในกลุ่ม 13.8 ล้านล้านหยวน ราว 68.58 ล้านล้านบาท แต่ก็มีหลายประเทศที่ประสบความล้มเหลวต้องถอนตัวออกจากบีอาร์ไอ เช่น แองโกลา เนปาล เปรู รัสเซีย ศรีลังกา เป็นต้น

การประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 3 นี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไม่คึกคักเหมือนเดิม (ท่ามกลาง สงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่ยืดเยื้อ และ สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่เพิ่งเริ่ม) อาจมีผู้นำยุโรปและอเมริกาเหนือเข้าร่วมน้อย และ อิตาลี ลาออกจากบีอาร์ไอ

แม้โลกจะแบ่งเป็นหลายขั้ว แต่ผมเชื่อว่า เส้นทางรถไฟขนส่งจีน ซึ่งเชื่อมโยงไปทั่วโลกหลายหมื่นกิโลเมตร ยังคงเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้าโลกให้เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน แม้จะมีระบบการเมืองการปกครองไม่เหมือนกันก็ตาม.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม