ชาวออสเตรเลียเริ่มลงคะแนนเสียงประชามติ รับรองสิทธิ์ของชนพื้นเมืองในประเทศเป็นครั้งแรกแล้ว แต่ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า คนส่วนใหญ่จะโหวตไม่เห็นชอบ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวออสเตรเลียเกือบ 18 ล้านคน เริ่มออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ ครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะตัดสินว่า พวกเขาจะให้การรับรองและเพิ่มสิทธิ์ให้แก่ชนพื้นเมืองในประเทศมากขึ้นหรือไม่แล้ว ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 14 ต.ค. 2566

การลงประชามติดังกล่าวจะถามผู้มาใช้สิทธิ์ 2 คำถามคือ จะเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รับรองสิทธิ์ของชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก และให้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่เรียกว่า ‘วอยซ์’ (Voice) เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ให้ความหวังแก่ฝ่ายปฏิรูปไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้รับการสำรวจราว 40% เท่านั้นที่โหวต ‘Yes’ เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่เกือบ 60% โหวต ‘No’ ไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้ ชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน (Aboriginal) และชาวเกาะช่องแคบทอเรส (Torres Strait Island People) ในออสเตรเลีย ซึ่งอาศัยอยู่ในทวีปนี้มาก่อนนานกว่า 60,000 ปี แต่ออสเตรเลียถือเป็นประเทศพัฒนาที่มีความล้าหลังในเรื่องสิทธิชนพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เคยกล่าวถึงชนพื้นเมืองเลย

ชนพื้นเมืองเป็นประชากรเพียง 3.8% ของประเทศเท่านั้น และมักตกเป็นเหยื่อของความไม่เท่าเทียม พวกเขามักป่วย, ถูกคุมของ หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้ำ มากกว่ากลุ่มคนขาวที่มั่งคั่งกว่า ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 200 ปีก่อน

ฝ่ายสนับสนุนโหวต Yes ระบุว่า การปฏิรูปนี้จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ได้ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านออกมาแสดงความกังวลเรื่องบทบาท และความมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการ วอยซ์ และขอให้ประชาชนโหวต No หากพวกเขายังไม่มั่นใจ

...

ผลสำรวจความคิดเห็นยังชี้ด้วยว่า ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องปัญหาเกี่ยวกับชนพื้นเมืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจัดอันดับปัญหานี้ให้อยู่รั้งท้ายจากปัญหาอื่นๆ ในสังคม

นางคาเรน ไวแอตต์ วัย 59 ปี ผู้ทำแคมเปญสนับสนุนโหวต Yes บอกกับสำนักข่าว เอเอฟพี ว่า เธอพยายามจะมองโลกในแง่บวกแม้ดูเหมือนว่ากำลังจะเผชิญกับความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเธอระบุว่า หากคณะกรรมการ วอยซ์ ถูกปฏิเสธ มันจะกลายเป็นวันแห่งความอับอายของออสเตรเลีย

“ฉันคิดว่ามันจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเส้นทางของประเทศนี้ การโหวต No ให้กับส่งที่เป็นคำขอและการแสดงความเอื้อเฟื้อง่ายๆ แบบนี้น่ะ”

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงประชามติในครั้งนี้มีประมาณ 17.5 ล้านคน เริ่มออกไปใช้สิทธิ์ในเวลา 8.00 น. วันเสาร์ (14 ต.ค.) ที่หน่วยลงคะแนนมากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยการทำประชามติจะผ่านได้นั้น ต้องได้เสียงส่วนใหญ่จากคะแนนโหวตรวมทั่วประเทศ และต้องมีรัฐที่โหวตเห็นชอบเป็นส่วนใหญ่ 4 จาก 6 รัฐด้วย

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cna