เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก เผย ชาวเอเชียอาคเนย์ราว 1 ใน 7 มีปัญหาสุขภาพจิต และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
เมื่อวันอังคารที่ 10 ต.ค. 2566 ดร.อันเดรีย บรูนี ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกกับสำนักข่าวแชนเนลนิวส์เอเชียว่า ประชาชนราว 260 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือราว 1 ใน 7 มีชีวิตอยู่ร่วมกับปัญหาสุขภาพจิต และหลายคนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือเหมาะสม
ตามการเปิดเผยของ ดร.บรูนี ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่พบได้แพร่หลายมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ช่องว่างการรักษากลับมีสูงมาก “ในบางประเทศ ช่องว่างการรักษาสูงถึง 90% หมายความว่า มีคนถึง 90% ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอาการทางจิต กลับไม่ได้รับการรักษา หรือดูแลอย่างทันท่วงทีหรือเหมาะสม หรือไม่ได้รับทั้งสองอย่างเลย”
นอกจากนั้น การตีตราทางสังคงต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตก็ยังคงแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “บ่อยครั้งมากที่การตีตรานำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง” ดร.บรูนี เสริมด้วยว่า ในภูมิภาคแห่งนี้มีความเชื่อเหมือนๆ กันว่า ผู้ป่วยอาการเหล่านั้นจะต้องรับการรักษาในสถาบันด้านสุขภาพจิต, โรงพยาบาลจิตเวช หรือโรงพยาบาลบ้า
“ข้อเท็จจริงมันต่างกันออกไป ข้อเท็จจริงคือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจำเป็นต้องเข้าถึงบริการที่มีอยู่ในแต่ละชุมชนที่เข้าถึงได้มากกว่า และมีความเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ดร.บรูนี ระบุด้วยว่า ตอนนี้สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ “หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนไป ผ่านการต่อสู้ และการสร้างแรงจูงใจของเหล่าผู้ที่มีประสบการณ์ตรง และผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วย ซึ่งควรเป็นตัวละครหลัก และสำคัญในการออกแบบนโยบาย และบริการต่างๆ สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต”
...
“สุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อสุขภาพ และสุขภาวะทางกายของเราในภาพรวม และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตภายใต้มาตรฐานสูงสุด” ดร.บรูนี กล่าว “แต่ทว่าทั่วโลก รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าเสียดายที่คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตยังต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายระดับ และหลายคนถูกแยกออกจากชุมชนและสังคม”
“การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ควรเป็นสาเหตุในการลิดรอนสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ของใคร รวมถึงการตัดขาดคนเหล่านั้นจากการมีส่วนร่วมในสังคม”
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ สำนักงานสุขภาพแห่งสหประชาชาติ การสำรวจจนถึงปี 2562 พบว่า ประชาชนเกือบ 1 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 8 ของโลก กำลังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับปัญหาสุขภาพจิต โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ตอนนี้ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นมาก ท่ามกลางความตึงเครียดต่างๆ ในโลก ทั้งโควิด-19, สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติโลกร้อน.
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cna