กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาตำรวจศีลธรรมอิหร่าน ว่าทำร้ายวัยรุ่นหญิงคนหนึ่งจนบาดเจ็บหนัก อาการโคม่า เนื่องจากไม่สวมผ้าฮิญาบ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 4 ต.ค. 2566 ว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมากล่าวหาตำรวจศีลธรรมของประเทศอิหร่าน ว่าทำร้ายหญิงวัยรุ่นอายุ 16 ปีคนหนึ่ง โทษฐานไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ หรือ ฮิญาบ พร้อมเผยแพร่ภาพแสดงให้เห็นว่าเธอนอนอาการโคม่าอยู่ในโรงพยาบาล

วัยรุ่นหญิงรายนี้มีชื่อว่า อาร์มิตา เกราวานด์ หมดสติหลังจากขึ้นโดยสารรถไฟใต้ดิน ที่สถานีโชฮาดา ในกรุงเตหะราน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ต.ค.) ขณะที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเธอเป็นลม และเผยภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่าเธอขึ้นรถไฟใต้ดินโดยไม่คลุมศีรษะพร้อมกับวัยรุ่นหญิงอีก 2 คน และครู่ต่อมาหนึ่งในกลุ่มก็ออกจากรถไฟแล้วก้มตัวลง และช่วยกันกับผู้โดยสารคนอื่นๆ หิ้วปีกและขา พาอาร์มิตาที่อยู่ในสภาพหมดสติมานอนบนชานชาลา

กลุ่มสิทธิมนุษยชน ‘Hengaw’ อ้างว่า อาร์มิตา ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมที่สถานีโชฮาดา โทษฐานไม่สวมฮิญาบ ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บหนัก และกำลังรับการรักษาที่โรงพยาบาล ฟาจร์ ในกรุงเตหะราน ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และโทรศัพท์ของสมาชิกครอบครัวทุกคนของเธอถูกยึดไปหมด

ขณะที่ สถานีวิทยา ซามาเนห์ (Zamaneh) รายงานอ้างคำพูดของแหล่งข่าวผู้ไม่เปิดเผยนามคนหนึ่งว่า อาร์มิตา ถูกตำรวจศีลธรรมผลัก หลังขึ้นรถไฟโดยไม่สวมฮิญาบ ทำให้ศีรษะของเธอไปกระแทกกับเสาเหล็ก

ในวันจันทร์ เจ้าหน้าที่อิหร่านควบคุมตัวนักข่าวหญิงคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ชาร์ค (Sharq) ซึ่งเดินทางไปยังโรงพยาบาลดังกล่าวเพื่อทำข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ก่อนจะปล่อยตัวเธอไป

ต่อมาในวันอังคาร Hengaw เผยแพร่ภาพผ่าน X แสดงให้เห็นว่าอาร์มิตานอนหมดสติอยู่ในโรงพยาบาล โดยมีผ้าพันแผลพันศีรษะ และได้รับการติดตั้งสิ่งที่ดูเหมือนเป็นท่อช่วยหายใจ

...

ด้านสำนักข่าวเออร์นา (Irna) รายงานอ้างคำพูดของแม่ของอาร์มิตาว่า พวกเธอได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว และยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์เป็นอุบัติเหตุ แต่กลุ่ม Hengaw อ้างว่า พ่อแม่ของอาร์มิตาถูกสัมภาษณ์ที่โรงพยาบาลฟาจร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงอยู่ด้วยหลายคน

นายมาซูด โดรอสติ ผู้อำนวยการสถานีรถไฟใต้ดินเตหะราน ก็ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าเกิดการกระทบกระทั่งกันไม่ว่าจะทางวาจา หรือทางร่างกาย ระหว่างอาร์มิตากับผู้โดยสาร หรือเจ้าหน้าที่รถไฟใต้ดิน “ข่าวลือบางกระแสที่บอกว่ามีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รถไฟใต้ดินนั้นไม่เป็นความจริง และภาพจากกล้องวงจรปิดก็ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนั้นแล้ว”.

ที่มา : bbc