หลายปีที่ผ่านมา มีนักวิจัยหลายคนพยายามค้นหาวิธีติดตามและบันทึกข้อมูลบรรดาสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือช่วยส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ที่ถูกกักขัง หนึ่งในนั้นก็คือทีมจากห้องปฏิบัติการเบิร์ดแล็บ (BirdLab) ของมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในออสเตรเลีย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวียนนาและศูนย์วิจัยคอนราด ลอเรนซ์ ในออสเตรีย ซึ่งเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่าพบวิธีศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์อย่างห่านเทาปากสีชมพู (Greylag Goose) เพื่อประเมินว่าห่านแต่ละตัวตอบสนองต่อ “ภาพ” ของตัวเองอย่างไร

ทีมเผยว่า “ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า” เป็นอีกหนทางใช้ศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของห่านเทาปากสีชมพูแต่ละตัวในยุโรป โปรแกรมนี้จะช่วยในการทดสอบหน้าห่านแต่ละตัวด้วยภาพ 2 มิติขนาดเท่าจริง นักวิจัยระบุว่าห่านเข้าหารูปถ่ายของคู่ของมันเร็วขึ้น มีความเป็นมิตร ทำให้กินอาหารได้นานขึ้น ซึ่งความแม่นยำ 97% ของใบหน้าห่านแต่ละตัว ทำให้สามารถกำหนดการจับคู่ที่เป็นไปได้ถึง 6,000 รายการได้อย่างถูกต้องภายในคลังภาพ การทำงานต่อไป ทีมจะวางภาพถ่ายขนาดจริงในสนามหญ้าเพื่อดูว่าห่านมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาพหรือไม่ เทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้ในการตรวจสอบห่านที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก นั่นคือ Cape Barren Goose ในรัฐเซาธ์ ออสเตรเลีย

นอกจากนี้ ทีมวิจัยเผยว่า สวัสดิภาพสัตว์ในกรงยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้รูปถ่าย เนื่องจากภาพถ่ายอาจลดความรู้สึกโดดเดี่ยวในสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกกักขัง หรือทำหน้าที่แนะนำอย่างละมุนละม่อม ก่อนที่จะนำสัตว์ตัวใหม่เข้ามาในกรง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยนำเสนอว่าควรให้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงรูปถ่ายของญาติที่ตายไปของสัตว์ในกรง รวมถึงเลี่ยงรูปของเพื่อนฝูง และสัตว์ที่โดดเด่นในกลุ่มของพวกมันที่วายชนม์ไปแล้ว.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่