ความเชื่อและความศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ยังคงอยู่คู่กับหลายคนหรือหลายสังคมมาโดยตลอด แต่บางครั้งมุมมองที่ต่างกัน ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือบั่นทอนความเชื่อในบางสังคมและวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่อง “แมวดำ” ที่มีทั้งคนรักและคนชัง ซึ่งจะขอพามาทำความรู้จักกัน เนื่องในวันสัตว์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและสร้าง ความตระหนักรู้ในสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์ทั้งหลาย

ในยุคกลางหรือช่วงศตวรรษที่ 5-15 มีความเชื่อของชาวคริสเตียนว่า แมวดำเป็นสัญลักษณ์ ของแม่มดและความชั่วร้าย และเชื่อว่า แมวก็เหมือนกับหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เพราะจะต่อต้านผู้มีอำนาจและเลี้ยงไม่เชื่อง ซึ่งแตกต่างจากสุนัข ขณะที่ในศตวรรษที่ 13 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ทรงมีประกาศตราสารชื่อว่า “Vox in Rama” ซึ่งมีเนื้อหาประณามลัทธิซาตานที่แพร่ขยายและกัดกินทั่วเยอรมนี เมื่อ 13 มิ.ย.1776 ระบุว่า แมวดำคือร่างอวตารของลูซิเฟอร์ หรือซาตาน และผลจากประกาศดังกล่าวทำให้เกิดความเกลียดชัง โดยเฉพาะ ในแมวที่มีสีดำทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนในยุโรปเริ่มล่าแมวเมื่อมีโอกาส

ทั้งนี้ ผศ.แดเนียล คอมโพรา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษ มหาวิทยาลัยโทเรโด มองว่า คนเหล่านี้เชื่อว่าแมวเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นจึงต้องกำจัดให้สิ้น แต่เพราะการลดลงของประชากรแมวนั่นแล ที่ทำให้ไม่มีใครกำจัดหนู จึงเป็นผลให้กาฬโรคแพร่ระบาดไปทั่วยุโรป

กระนั้น ความเชื่อที่ว่าแมวเหมียวเหล่านี้เป็นตัวแทนของความเลวร้ายใช่ว่าจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะบางวัฒนธรรมเชื่อว่า แมวดำนำพา มาซึ่งความโชคดี เช่น ในอียิปต์เชื่อว่า แมวดำ คือเทพเจ้า ชาวอียิปต์มีความเลื่อมใสใน เทพี บาสต์ (Bast) หรือ บัสเตต (Bastet) ซึ่งเป็น เทพเจ้าแห่งความรัก ความสุขและความอุดมสมบูรณ์ โดยเทพีบาสต์มีสรีระเพรียวบางดั่งหญิงสาว แต่มีศีรษะเป็นแมว ทั้งนี้ในยุคอียิปต์โบราณ การฆ่าแมวโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ส่วนสกอตแลนด์ และญี่ปุ่นเชื่อว่า หากได้พบแมวดำจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง

...

เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวไทยที่มีมาแต่โบราณ มีการจัดกลุ่มแมวออกเป็น 23 กลุ่ม ตามรูปแบบขนและลักษณะนิสัย มีแมว 17 กลุ่มเป็นแมวนำโชค ในจำนวนนี้มี 10 กลุ่มเป็นแมวดำ เชื่อว่าหากผู้ใดได้ครอบครองแมวเหมียวเหล่านี้ ก็จะมีแต่ความร่ำรวย สุขภาพร่างกายแข็งแรง และปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง.

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม