รัสเซียได้ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ในช่วงต้นของคริสต์ ศตวรรษที่ 19 โดยมีฐานะเป็นโอบลาสต์ปกครองตนเองของสหภาพโซเวียต ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและมีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานแล้ว ดินแดนนี้ก็อยู่ในเขตการปกครองของอาเซอร์ไบจาน แต่เกิดกรณีพิพาทขึ้นกับอาร์เมเนียเพราะต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนแห่งนี้เช่นกัน

เปิดฟ้าส่องโลกรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพเมื่อ 4-6 ตุลาคม 2020 เรื่องอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน รวม 3 ตอน อธิบายขยายความถึงความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งในสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค หรือสาธารณรัฐอาร์ทซัค ดินแดนพิพาทที่อยู่ในสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีเนื้อที่ 4,400 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1.46 แสนคน ซึ่งร้อยละ 76 เป็นชาวอาร์เมเนีย ที่เหลือเป็นชาวอาเซอร์ไบจาน

ปัญหาความรุนแรงระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียเกิดจากการรับรองของสหประชาชาติที่ให้แผ่นดินของนากอร์โน-คาราบัคเป็นของอาเซอร์ไบจาน โดยไม่เป็นไปตามหลักพลเมืองจำนวนมากของประเทศ กลายเป็นรัฐซ้อนอยู่ในรัฐอีกทีหนึ่ง ในทางปฏิบัติ นากอร์โน-คาราบัคก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายอาร์เมเนีย ทำให้ดินแดนแถบนี้ไม่เคยสงบ

เคยมีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างอาเซอร์ไบจานจนเกิดเป็นสงครามนากอร์โน-คาราบัค เมื่อ ค.ศ.1988-1994 โดยอาร์เมเนียเป็นฝ่ายชนะ และทำให้พวกอาเซอร์ไบจานต้องออกจากพื้นที่แห่งนี้ ความขัดแย้งมีมาต่อเนื่อง จนเมื่อ 3 ปีที่แล้วคือ 27 กันยายน-10 พฤศจิกายน 2020 ก็เกิดการสู้รบกันครั้งใหญ่ โดยคู่สงครามคือสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัคร่วมกับอาร์เมเนีย ส่วนอาเซอร์ไบจานร่วมกับกองทัพแห่งชาติซีเรียและตุรกี แต่การต่อสู้ครั้งนี้มีมหาอำนาจหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่ง

...

สาเหตุที่ทำให้มหาอำนาจสนใจความขัดแย้งกรณีนากอร์โน-คาราบัค เพราะแถบนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งเรื่องก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน การสู้รบครั้งล่าสุดรัสเซียจึงต้องออกหน้าเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อให้สงครามสงบจบลงเร็วที่สุด ไม่ให้บานปลายจนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ท้ายที่สุด จบลงด้วยชัยชนะของกองทัพอาเซอร์ไบจาน โดยมีการตกลงว่าคนชนอาร์เมเนียจะคืนดินแดนรอบภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคที่ตนยึดครองให้อาเซอร์ไบจาน

เรื่องของนากอร์โน-คาราบัคเงียบหายไปนาน 3 ปี จนกระทั่งเมื่อ 19 กันยายน 2023 ที่ผ่านมาก็เกิดการปะทะกันครั้งล่าสุด บางคนเรียกสงครามครั้งที่ 3 แต่ครั้งนี้สงครามจบลงใน 1 วันเท่านั้น มีการโจมตีทางทหารแบบสายฟ้าแลบแบบ 24 ชั่วโมงของกองทัพอาเซอร์ไบจาน โดยยิงขีปนาวุธและโดรนใส่สเตพานาแกร์ต เมืองหลวงของนากอร์โน-คาราบัค ทำให้นากอร์โน-คาราบัคต้องยอมแพ้

ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลิเยฟ ของอาเซอร์ไบจานประกาศ ชัยชนะ และย้ำว่าอาเซอร์ไบจานได้ฟื้นอำนาจอธิปไตยของตนได้ด้วยหมัดเหล็ก ฝ่ายผู้นำนากอร์โน-คาราบัค ยอมรับความพ่ายแพ้ ออกประกาศกฤษฎีกายุบดินแดนนี้ และจะรวมตัว เข้ากับอาเซอร์ไบจานอย่างสมบูรณ์ในเดือนมกราคม 2024

ทันทีที่มีการประกาศชัยชนะเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค วันรุ่งขึ้น คลื่นมหาชนคนเชื้อสายอาร์เมเนียมากกว่า 7 หมื่นคนก็อพยพออกจากพื้นที่เข้าสู่อาร์เมเนียทันที ปัญหาคือความพร้อมของอาร์เมเนียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 3 ล้านคน กับพื้นที่ 2.97 หมื่นตารางกิโลเมตร จะรับผู้ลี้ภัยทั้ง 1.2 แสนคนนี้อย่างไร

หลังจากสู้รบกันมานาน 3 ทศวรรษ ถึงวันนี้ ความขัดแย้งในนากอร์โน-คาราบัคได้สิ้นสุดลงเสียทีครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม