ชาวญี่ปุ่นได้นำหุ่นยนต์หมาป่ามาใช้ในการขับไล่หมี ที่เริ่มบุกรุกพื้นที่ทำมาหากินและออกมาทำร้ายชาวบ้าน

เดิมทีหุ่นยนต์หมาป่าได้รับการออกแบบมาสำหรับการป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้บุกรุกเข้าไปยังพื้นที่การเกษตร แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ใช้หุ่นยนต์หมาป่าเพื่อป้องกันไม่ให้หมีเข้าไปในเขตเมืองและทำร้ายผู้คน

โมโตฮิโระ มิยาซากะ ประธานบริษัท "วูล์ฟ คามุอิ" (Wolf Kamuy) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ กล่าวว่า การติดตั้งหุ่นยนต์ในเมืองทากิคาวะ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2563 นับเป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์หมาป่าถูกนำมาใช้ขับไล่หมี และนับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งได้สั่งซื้อหุ่นยนต์หมาป่ามากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าการโจมตีของหมีไม่ใช่ปัญหาใหม่ในญี่ปุ่น แต่เหตุการณ์โจมตีของหมี ก็เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สาเหตุหลักคือผู้คนอพยพออกจากหมู่บ้านเกษตรกรรมในชนบท นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว

ชินสุเกะ โคอิเกะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ซึ่งมีศูนย์วิจัยเกี่ยวกับหมี ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศป่าไม้ กล่าวว่า "ประชากรในเมืองของญี่ปุ่นกำลังขยายตัว คนอายุน้อยไม่ต้องการอาศัยอยู่ในหรือใกล้ภูเขา"

หลายคนอพยพไปยังเมืองใหญ่ ทำให้หมู่บ้านหรือเมืองเริ่มหดตัวลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องมาจากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น นายโคอิเกะ กล่าวว่า "พื้นที่เกษตรกรรมในชนบทบริเวณเชิงเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเขตกันชนระหว่างหมีกับมนุษย์ที่มีจำนวนเพิ่ม กำลังหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ"

ผลก็คือ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บรรดาลูกหมีเริ่มเข้าไปในเขตป่ารกร้าง อาศัยอยู่ใกล้กับเมือง ทำให้พวกมันเริ่มชินกับแสงสว่างจ้าและเสียงดัง และไม่กลัวมนุษย์มากขึ้น พวกมันเดินทางเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัย เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันได้ขยายจากภูเขาไปสู่พื้นที่ราบใกล้กับประชากรมนุษย์มากขึ้น

...

ในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการโจมตีของหมีมากกว่า 150 ครั้งในฮอกไกโด มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย และบาดเจ็บ 10 รายในปี 2564 ซึ่งถือเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

หมีสีน้ำตาลที่มีความดุร้ายมากกว่า สามารถพบได้ทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด ขณะที่หมีดำเอเชียอาศัยอยู่ตามพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่น โดยสังเกตได้จากเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยวสีครีมบนหน้าอก และมีความก้าวร้าวน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้อันตรายน้อยกว่าด้วย

ประชากรหมีในญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ประชากรมนุษย์ในญี่ปุ่นมีอายุมากขึ้นและหดตัวลง ข้อมูลของรัฐบาลประมาณการว่า มีหมีสีน้ำตาลประมาณ 12,000 ตัวในภูมิภาคฮอกไกโด ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า ประชากรหมีดำในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 10,000 ตัว

การปรากฏตัวของหมีและเหตุการณ์ต่างๆ มักเกิดขึ้นประมาณเดือนเมษายน เมื่อหมีเริ่มตื่นจากการจำศีลเพื่อออกหาอาหาร และอีกครั้งในเดือนกันยายนและตุลาคม เมื่อพวกมันออกหากินเพื่อสะสมไขมันในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม การโจมตีถึงขั้นเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้ยาก

นายโคอิเกะ กล่าวว่า "ตามสถิติแล้ว หากจำนวนการโจมตีและการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น โอกาสที่มีผู้เสียชีวิตก็อาจจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน" 

สถานการณ์ยังเลวร้ายลง เนื่องจากผลผลิตลูกโอ๊กซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหมีลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยทั่วไปแล้วการเก็บเกี่ยวลูกโอ๊กจะเป็นไปตามวัฏจักรที่ขึ้นลง ฤดูใบไม้ร่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจำนวนมาก อาจหมายถึงผลผลิตที่ลดลงในปีต่อไป และปีที่เลวร้ายอาจแย่ลงได้อีก หากเกิดพายุรุนแรง ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร.

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign